นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะผู้รับผิดชอบการดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Creative Economy ของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายในการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย สร้างความเข้มแข็งจากภายในต่อยอดสู่สากล จึงได้ มีนโยบายส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค โดยในปี 2561 นี้มีแผนดำเนินงานถึงเกือบ 100 โครงการ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการและผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการเหล่านี้มากกว่า 100,000 คน และเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ตามเป้าหมาย
แผนงานของกระทรวงพาณิชย์ตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะดำเนินการทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ โดยมีแนวคิดและหลักการในการพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ นำไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืน ครอบคลุมกลุ่มสินค้าและบริการสร้างสรรค์ ได้แก่ กลุ่มสินค้าหัตถกรรม กลุ่มธุรกิจบันเทิงและดิจิทัลคอนเทนท์ กลุ่มแฟชั่น กลุ่มสิ่งพิมพ์ กลุ่มซอฟต์แวร์ กลุ่มสถาปัตยกรรม กลุ่มสินค้าอาหารและสุขภาพ และกลุ่มครีเอทีฟสตาร์ทอัพ
“หน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินงานตามภารกิจหลักของตน แล้วนำมาเชื่อมโยงต่อยอด เป็นการบูรณาการอย่างครบวงจรตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่พัฒนากระบวนการความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การสร้างสินค้าและบริการ พัฒนาขั้นตอนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการทั่วทุกภูมิภาคของประเทศสู่การทำการค้าได้ด้วยตนเองตามแนวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การส่งเสริมการใช้งานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี รวมทั้งการเร่งรัดขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ นำรายได้สู่ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ พบว่า ผู้ประกอบการต้องการที่จะได้แรงบันดาลใจ พัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการแปลงความคิดให้เป็นรูปภาพ เพื่อเป็นสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ และสามารถเป็นธุรกิจได้อย่างมั่นคง ดังนั้นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาการผลิตและตลาด ไม่ว่าจะเป็นการค้าออนไลน์ ออฟไลน์ ให้ผู้ประกอบการไทยมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความแตกต่าง จัดกระบวนการทางความคิดไปสู่ธุรกิจ กรมฯ เชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างผู้ประกอบการสินค้าบริการใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหม่ในภูมิภาคให้สามารถใช้ ภูมิปัญญาและวัสดุท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ต่อยอดได้
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 กิจกรรมเด่นภายใต้นโยบาย Creative Economy ของกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย การจัดงาน Creative Thailandสัญจร ควบคู่กับการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ ณ จังหวัดเชียงใหม่ การสนับสนุนประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลสารคดีอาเซียน (ASEAN Side of the Doc) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว การพัฒนาผู้ประกอบการและนักออกแบบเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (61st Bangkok Gems and Jewelry) โครงการต่อยอดการพัฒนาผู้ประกอบการค้าออนไลน์ : Smart Online SMEs การจัดกิจกรรมเจรจาการค้าในงาน Hong Kong Film and TV Market 2018 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ YEN-D ปีที่ 4 ของกรมการค้าต่างประเทศ และโครงการขับเคลื่อนนักธุรกิจด้วยนวัตกรรมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอีกด้วย
ทั้งนี้ มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเทศไทยสูงถึงกว่า 1.61 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.18 ของจีดีพี มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 359,515 ราย และมีบุคลากรในอุตสาหกรรมจำนวน 860,654 ราย