ทิ้งกระจาดมูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน คึกคัก เศรษฐกิจไม่ดี คนแห่รับของบริจาคในงานเทกระจาดมูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน ประชาชนในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี หลายพันคนเข้ารับสิ่งของบริจาคเป็นข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำปลา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากงานเทกระจาดประจำปี 2567 ของมูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน ซึ่งสามารถช่วยประหยัดเงินให้ประชาชนที่มารับแจกสิ่งของที่ต้องไปหาซื้อมากินในครัวเรือนในยามเศรษฐกิจไม่ดีได้เป็นอาทิตย์
ที่ มูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นายจีระชัย ไกรกังวาร นายกเทศมนตรีเมืองวารินชำราบ เป็นประธานเปิดงานประเพณีทิ้งกระจาด ประจำปี 2567โดยมีนายเทียมชัย ประกิตชัยวัฒนา ประธานมูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน อ.วารินชำราบ อุบลราชธานี และนายวินัย เหลืองรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษามูลนิธิฯ พร้อมสมาชิกให้การต้อนรับ ซึ่งมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศมารอรับของแจก โดยบางรายเดินทางด้วยรถไฟมาไกลจาก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ นายวินัย เหลืองรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษามูลนิธิฯ กล่าวมูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน จัดประเพณีทิ้งกระจาด หรือซิโกว ต่อเนื่องกันมายาวนาน 50 ปีแล้ว เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วและวิญญาณไร้ญาติ ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติ พิธีทิ้งกระจาด หรือเทกระจาด นั้น เป็นพิธีกรรมจีนอย่างหนึ่ง ที่นิยมจัดขึ้นในเทศกาลต่างๆ ของชาวจีน หรือเรียกกันว่า ซิโกว ซึ่งเป็นประเพณีที่เปิดโอกาสให้ลูกหลานได้ทำบุญใหญ่ และถึงตรงแด่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และสัมภเวสีไร้ญาติทั้งหลาย เชื่อกันว่า ในเดือนเจ็ดนี้ เป็นช่วงที่ประตูนรกเปิด เพื่อให้ดวงวิญญาณทั้งที่มีญาติและไม่มีญาติ ได้มาเยือนโลกมนุษย์ เพื่อมาเยี่ยมลูกหลาน (สำหรับพวกที่มี) และเพื่อขอส่วนบุญ (สำหรับพวกที่ไร้ญาติ) สำหรับพิธีกรรมนั้น จะเริ่มจากอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสวดมนต์ เวียนธูป บางที่ 7 วัน บางที่ 3 วัน จนถึงวันสุดท้าย เป็นพิธีโปรดสัตว์ และเผากระดาษเซ่นไหว้ ซึ่งพับเป็นภูเขาเงิน ภูเขาทอง ให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับและดวงวิญญาณไร้ญาติด้วย สำหรับปีนี้ทางมูลนิธิได้เตรียมข้าวสารคนละ 5กิโลกรัม น้ำปลา น้ำมันพืช น้ำตาล และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมกว่า 3,000 ชุด ไว้แจกจ่ายให้ประชาชนทุกคนที่มาร่วมงาน ซึ่งจะแจกให้เป็นรายคนเลยไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และคนพิการ ในงานจะมีอาสาสมัครของมูลนิธิมาคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุและคนพิการ นอกจากนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเวียนกลับมารับของแจกซ้ำทางมูลนิธิได้ให้ผู้รับของแจกแล้วเอานิ้วจุ่มหมึกแดงเพื่อเป็นสัญญลักษณ์ด้วย นอกจากนี้หากประชาชนที่มารับของแจกเกินจำนวนสิ่งของที่เตรียมไว้ทางมูลนิธิยังได้เตรียมเงินสดไว้ให้ประชาชนที่ไม่ได้รับสิ่งของด้วย ด้านนางทิน สระแก้ว อายุ 85 ปี ชาวอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หนึ่งในผู้มารับสิ่งของในงานทิ้งกระจาดเผยว่า ตนและญาติๆและคนในหมู่บ้านประมาณ 10 คน เดินทางด้วยรถไฟชั้น 3 จากอำเภอลำปลายมาศเพื่อมารับของแจกทุกปี เพราะของที่ได้สามารถใช้ประกอบอาหารและช่วยประหยัดค่ายังชีพในครอบครัวได้ไปอีกหลายวัน ในยุคข้าวยากหมากแพงนี้
///////////////////////////////////////////////////////////
สุธน ประกอบพร/อุบลราชธานี