เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 ภายใต้โครงการจิตอาสา “อุตสาหกรรมรวมใจ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ บริเวณศูนย์พัฒนา และฝึกอบรม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด หน่วยงานภาคเอกชน ได้สวมเสื้อโปโลสีเหลือง หมวกและผ้าพันคอจิตอาสา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กว่า 400 คน เข้าร่วมกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวน 92 ฝาย 92 พรรษา ภายใต้โครงการจิตอาสา อุตสาหกรรมรวมใจ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ
โดย ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางไปเป็นประธานนำผู้ร่วมกิจกรรม ประกอบพิธี เปิดกรวยดอกไม้ พร้อมนำจิตอาสา ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวของ กล่าวถวายความเคารพ ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
จากนั้น นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงที่มาของการทำโครงการสร้างฝายชะลอน้ำ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการฟื้นฟู พื้นที่ป่า ให้มีสภาพสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของดินในป่าให้สามารถเก็บกักน้ำ ไว้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ดังนั้นจึงร่วมกับ ทางจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และบริษัทสยามคราฟท์ อุตสาหกรรม จำกัด ได้จัดทำโครงการดังกล่าว ก่อนนำจิตอาสาเข้าไปดำเนินการ “สร้างฝายชะลอน้ำ 92 ฝาย 92 พรรษา” ตามจุดต่างๆ ที่ได้จัดวางไว้ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระนางเจาสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ภายใต้ชื่อโครงการจิตอาสา “อุตสาหกรรมรวมใจ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ” จะทำการสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวน 27 ฝาย ประกอบด้วย แบบที่ 1 ฝายเกเบี้ยน จำนวน 1 ฝาย เป็นฝายที่มีความคงทน มีอายุ การใช้งานได้ยาวนานกว่าแบบหิน เพื่อช่วยลดความรุนแรงการไหลของน้ำในฤดูฝน ช่วยชะลอ และกักเก็บน้ำบางส่วน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนดินด้านข้างลำธาร ส่วนแบบที่ 2 และ 3 ฝายหินและฝายคอกหมู จำนวน 26 ฝาย ซึ่งเป็นฝายที่สามารถทำได้ง่ายๆจากวัสดุในพื้นที่ที่มีอยู่เช่น ก่อนหินในพื้นที่บริเวณนั้น เพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ไหลช้าลง และฝายชะลอน้ำที่เหลือจะดำเนินการให้ครบ 92 ฝาย ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ยังได้จัดกิจกรรมจิตอาสา “อุตสาหกรรมรวมใจ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ” เพื่อร่วมกันดูแลรักษาฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองให้มีสภาพที่ดียิ่งขึ้น พร้อมกำกับดูแล โรงงานในการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำลำคลองสาธารณะต้องไม่เกินความาตรฐานที่กฎหมาย กำหนด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับชุมชนบริเวณใกล้เคียงโรงงาน อีกด้วย
////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์