วันที่ 21 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นประธานพิธีเปิด “การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเพื่อนผู้สูงวัย (Oldie Companion)” โดยมี นางสาวชนภัทร พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการกลุ่มระบบการดูแลและเฝ้าระวังทางสังคมผู้สูงอายุกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะความรู้ในการบริการดูแลผู้สูงอายุ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นการจัดอบรมทั้งในรูปแบบบรรยายและฝึกปฏิบัติ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย ผู้ประกอบธุรกิจด้านผู้สูงอายุ ผู้ประกอบอาชีพอิสระดูแลผู้สูงอายุ อาสาสมัคร และประชาชนทั่วไป รวมจำนวนทั้งสิ้น 80 คน
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ และมีการคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดในปี พ.ศ. 2576 ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายจิตใจและสังคม จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างเหมาะสม รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขในสังคม เพื่อชะลอการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงการดูแลระยะยาวในอนาคต ซึ่งในการดูแลผู้สูงอายุจะต้องอาศัยผู้ดูแลผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนสำคัญในการดูแลและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมและปลอดภัยในการดำเนินชีวิต และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม พร้อมทั้งได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมและสนับสนุนการจัดอบรมเสริมสร้างทักษะความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุตามมาตรฐานกลางของประเทศให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุในทุกระดับ ตั้งแต่ในระดับครอบครัว ชุมชน และเพื่อการประกอบอาชีพ รวมถึงผลักดันให้เกิดการริเริ่มและจัดทำหลักสูตรเพื่อนผู้สูงวัยขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันอาชีพที่ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ได้แก่ อาชีพช่วยเหลือดูแลการดำเนินกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ อาชีพการพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ ทำธุระหรือกิจกรรมทางสังคม การท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนองค์ความรู้และวิทยากรที่เกี่ยวข้องในหลักสูตรจากสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ, บริษัท วีล ออฟ จอย จำกัด, บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โบนาน เมดิกส์ และวิทยากรภาคเอกชนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์กร ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่าน จะได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบถ้วน โดยผ่านการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในการให้บริการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี