บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เตรียมทบทวนทิศทางธุรกิจ กลับมาเน้นการลงทุนผลิตไฟฟ้าและพลังงานเป็นหลัก ชะลอลงทุนธุรกิจสาธารณูปโภคโครงการใหม่เพิ่มเติม พร้อมเริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และเทคโนโลยีพลังงานอนาคต ทั้งโครงการกรีนไฮโดรเจน, ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ และการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) มั่นใจผลงานครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก รับรู้รายได้เพิ่มจาก COD โรงไฟฟ้าใหม่ 4 โครงการ ตั้งงบขยายการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ 10,000 ล้านบาท
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการทบทวนและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยจะกลับมามุ่งเน้นธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงาน พร้อมทั้งวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกและประเทศ รวมถึงศักยภาพและขีดความสามารถของบริษัทฯ ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเน้นโครงการประเภทกรีนฟิลด์และบราวน์ฟิลด์ โดยจะเข้าร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศเป้าหมาย ซึ่งประเทศไทยและอินโดนีเซีย มีโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซธรรมชาติ, สปป. ลาว มีศักยภาพที่จะลงทุนด้านพลังงานน้ำเพื่อส่งจำหน่ายให้กับประเทศไทย ส่วนออสเตรเลียมีศักยภาพพัฒนาโครงการพลังงานลม แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการประเภท Synchronous Condenser ที่ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และเทคโนโลยีพลังงานอนาคต ที่สามารถต่อยอดจากสินทรัพย์และศักยภาพความสามารถของบริษัทฯ ที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ 1.โครงการกรีนไฮโดรเจน ได้ร่วมกับ BIG พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนจากโครงการของบริษัทฯ ที่มีอยู่ในประเทศไทย, สปป. ลาว และออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต 2. ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการขนาด 100 MW/200 MWh ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ โครงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรงในประเทศไทย ซึ่งกำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาโครงการนำร่องในนิคมอุตสาหกรรม
และ 3. การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ก็ได้ร่วมกับพันธมิตรทำการศึกษาเทคโนโลยี กฎระเบียบ และประเมินผลกระทบด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากมีการนำมาใช้ อย่างไรก็ตามการลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ยังต้องรอฟังความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะกำหนดให้รัฐวิสาหกิจ หรือเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน
“การเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะแผน PDP ฉบับใหม่ ที่ใส่เรื่องของ Direct PPA โรงไฟฟ้า SMR และกรีนไฮโดรเจนเข้ามา กระแสโลกที่มุ่งลดโลกร้อน ปัญหาสงครามการค้า และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในอนาคต บริษัทจึงต้องทบทวนแผนยุทธ์การลงทุนใหม่ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัท จะกลับมาโฟกัสการลงทุนในธุรกิจพลังงานเป็นหลัก เพราะเป็นการลงทุนในธุรกิจที่บริษัทมีความถนัด ส่วนการลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐานจะยังไม่มีการลงทุนในโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม คาดว่าแผนยุทธ์ศาสตร์ใหม่จะมีความชัดเจนในต้นปีหน้า”
ส่วนแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อมาให้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าหินกองนั้น ในปีนี้ น่าจะเหลือการนำเข้าอีก 6 ลำ จากครึ่งปีแรกนำเข้ามาแล้วประมาณ 4 ลำ ปริมาณรวมราว 8 แสนตันเพื่อมาใช้ในโรงไฟฟ้าหินกอง โรงแรก และในปี 2568 คาดว่าจะมีการนำเข้า LNG มาขึ้นเพื่อมาใช้ในโรงไฟฟ้าหินกองโรงที่ 2
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2567 คาดว่าจะเติบโตขึ้นจากครึ่งปีแรก ตามทิศทางของโลกที่ให้ความสำคัญกับกำหนดเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ และกระแสการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเชื้อเพลิงที่มาจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศแถบอาเซียนที่เป็นเป้าหมายรองรับโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตจากปัญหาสงครามการค้า
อีกทั้ง ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ บริษัท จะรับรู้รายได้เพิ่มจากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเปิดเดินเครื่องการผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) อีก 4 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น รวม 40 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โคราช, โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย, โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง1 เวียดนาม และโครงการกักเก็บพลังงานระบบแบตเตอรี่ LG2 ออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม บริษัท ได้เตรียมงบประมาณสำหรับใช้ขยายการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ราว 80% จะใช้สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกอง โรงที่ 2 ที่มีกำหนด COD ช่วงต้นปี 2568 ซึ่งวงเงินดังกล่าวยังไม่รวมแผนฯทำดีล M&A
โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 10,817.28 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรวม 7,842.61 เมกะวัตต์ (72.5%) และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนรวม 2,974.67 (27.5%) ในปี 2567 จากเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ในปี 2573 และ 40% ในปี 2578 ซึ่งคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้