“จุลินทรีย์กำจัดน้ำมัน” คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่มีความพิเศษคือ “กินน้ำมันได้” ทำให้นอกจากจะนิยมใช้กับการกำจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงทะเลและแหล่งน้ำแล้ว ยังมีการนำมาใช้กับการกำจัดน้ำมันที่ปนเปื้อนมากับน้ำทิ้งในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม แต่การใช้งานที่เป็นการเทผงจุลินทรีย์ลงไปบนผิวหน้าน้ำในบ่อบำบัด จึงเป็น ต้นทุนค่า “จุลินทรีย์” ที่ ทำให้ยังมีการใช้ในวงจำกัด
จึงเป็นที่มาของ โครงงานประดิษฐ์ “POD Economy ผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ ย่อยสลายน้ำมันด้วยจุลินทรีย์ชีวภาพ” ของ 4 นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประกอบด้วย นางสาวนิศารัตน์ หวังเจริญมณี (ฟ้า), นางสาวชุดาวัลภ์ สมหวัง (เบบี้มายด์), นางสาวณิพภิชฌนันท์ เงินเพิ่มทรัพย์ (หมิง) และนางสาววิจิตรา ใจแก้ว (นิว) ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองระดับอุดมศึกษา กลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ในโครงการ Thailand New Gen Inventor Award: I-New Gen Award 2024 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
นิศารัตน์ หรือน้องฟ้า กล่าวว่า “สิ่งที่เราทำคือการสร้างผลิตภัณฑ์ในการบำบัดน้ำมันในน้ำที่มีคุณสมบัติเด่นที่สำคัญ คือ ‘สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง’” โดยการหาวิธีทำให้เชื้อจุลินทรีย์ในธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเด่นด้านการกำจัดน้ำมันสามารถอยู่บนบนผิววัสดุสังเคราะห์กลุ่มโพลิเมอร์ ที่เพราะเป็นวัสดุลอยน้ำที่มีจำหน่ายในท้องตลาดอยู่แล้ว”
วิจิตรา หรือน้องนิว กล่าวเสริมว่า อีกสิ่งที่ทำไปคู่กันคือการสภาวะที่จะทำให้จุลินทรีย์สายพันธุ์นี้เปลี่ยนมากินน้ำมันเป็นอาหารหลักแทนน้ำตาล รวมถึงการใส่จุลินทรีย์อีกชนิดหนึ่งซึ่งปล่อยสารที่ทำให้โมเลกุลของน้ำมันมีขนาดเล็กลง เพื่อให้จุลินทรีย์ตัวแรกกินน้ำมันได้มากขึ้นและเร็วขึ้น”
ณิพภิชฌนันท์ หรือน้องหมิง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการกำจัดน้ำมันว่า “POD 5 ชิ้น (น้ำหนักประมาณ 1.5 กรัม) จะสามารถย่อยสลายน้ำมันได้ 1-2 มิลลิลิตร ในเวลา 3 วัน ที่สำคัญประสิทธิภาพในการกำจัดน้ำมันของการนำ POD มาใช้ซ้ำในครั้งที่ 2 และ 3 ยังใกล้เคียงกับการใช้ในครั้งแรก”
และทั้งหมดนี้ นอกจากจะทำให้โครงงานที่ใช้เวลาทำเพียง 6 เดือนชิ้นนี้คว้ารางวัลเหรียญทอง จากโครงการ Thailand New Gen Inventor Award : I-New Gen Award 2024 ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แล้ว ยังนำไปสู่การยื่นจดอนุสิทธิบัตรการค้นพบครั้งนี้อีกด้วย
ด้าน ผศ. ดร.นุจริน จงรุจา อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาของน้องๆ กลุ่มนี้ กล่าวว่า เบื้องหลังของโครงงานประกวดชิ้นนี้ คือการนำองค์ความรู้จากการค้นคว้าวิจัยของกลุ่มวิจัยของภาควิชาจุลชีววิทยา ที่ฐานคิดในการพัฒนาเป็นโครงงานให้นักศึกษาได้ทำ ซึ่งช่วยให้เขามีทักษะการค้นคว้าวิจัยและการทำงานเป็นทีม
“ในฐานะอาจารย์ เราพยายามผลักดันให้เด็กแสดงศักยภาพออกมา เพราะเราเชื่อว่าเขาทำได้ และพร้อมกันนั้นต้องทำงานเป็นทีมได้ด้วย คือนอกจากแต่ละคนจะต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ศึกษาด้วยตัวเองได้ การยินดีที่ได้ช่วยคนอื่นก็เป็นสิ่งสำคัญ และหากช่วยเหลือกัน งานยากแต่ไหนก็จะผ่านไปได้”
//////////////// วัฒนะ แก้วก่า/สกลนคร 0819541528