ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
เมืองพัทยาระบุมหากาพย์ “วอร์เตอร์ฟรอนด์” ยังอึมครึมแม้มีความพร้อมรื้อถอนอาคารปลูกสร้างผิดแบบ
06 ก.ย. 2567
 แต่ต้องรอผล ปปช.กรณีสอบถามความชัดเจนกรรมสิทธิ์ที่ดิน “วอร์เตอร์ฟรอนด์” ถูกสั่งเพิกถอนโฉนดหรือไม่ หลังศาลพิพากษาสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินอาชาแลนด์ 3 แปลง ซึ่งถูกแบ่งแยกมาจาก น.ส.3 เดียวกัน
 
ดูท่าทีการแก้ไขปัญหาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากหลายฝ่าย หลายหน่วยงาน จนเป็นที่มาของปัญหาอาคารคอนโดมิเนียมหรูขนาดยักษ์ริมท่าเรือพัทยาใต้ อย่าง “วอร์เตอร์ ฟรอนด์” ที่มีความผิดในหลายส่วนคงจะไม่จบลงง่ายๆ และยังตามหาบทสรุปไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วจะลงเอยอย่างไร ขณะที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญเข้ามาติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดแล้วก็ตาม แต่นับจากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้กว่า 16 ปี เราก็ยังคงต้องนั่งมองอาคารสถานที่ขนาดใหญ่ที่สร้างประจานความผิดพลาดและผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย ซึ่งถือเป็นอีก 1 เรื่องที่ประชาชนเกิดความสงสัยว่าความเสียหายนับพันล้านบาททั้งในส่วนของผู้บริโภค ผู้เช่าซื้อที่ดินที่ได้มาอย่างถูกต้องใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือสุดท้ายคงต้องปล่อยให้ไปไล่เบี้ยฟ้องร้องกันเองชั้นศาลซึ่งคงกินเวลาอีกนับทศวรรษ
 
   
ที่ผ่านมาจากมติในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566 ชี้มูลความผิดให้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และพวกกรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ. 1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟรอนด์ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง เห็นว่า นายอิทธิพล คุณปลื้ม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง กระทั่งต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ได้มีคำสั่งออกหมายจับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม ตามคำร้องของคณะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ยื่นเรื่องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 เพื่อขอออกหมายจับ  ซึ่งล่าสุดนายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ก่อนขอประกันตัวออกไป โดยให้เหตุผลว่าที่ไม่ได้มาตามหมายในครั้งแรกเพราะป่วยป่วยเป็นโควิด-19 และต้องนอนพักรักษาตัวที่ประเทศกัมพูชากระทั่งเดินทางกลับมารายงานตัวดังกล่าว ซึ่งสุดท้ายคดีก็หมดอายุความไป ขณะที่ข้าราชการประจำรายอื่นๆไล่ตั้งแต่ ผอ.สำนัก จนมาถึงนายตรวจเขต จะมีทั้งเสียชีวิตไปแล้วบ้าง ยอมรับสารภาพถึงงามความผิดพลาดในการตรวจสอบที่รอบคอบจนเกิดความเสียหาย ขณะที่มี 2 รายในสำนักการช่างที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ป.ป.ช.ชี้ว่ามีความผิดแน่นอน มีความผิดจำคุก 1 ปี ซึ่งปัจจุบัน 1 คนเกษียณอายุราชการไปแล้ว อีก 1 คนลาออกจากราชการและทั้ง 2 กำลังยื่นเรื่องอุทธรณ์
 
  
สำหรับโครงการวอร์เตอร์ฟรอนด์ แอนด์ เรสซิเดนท์ นั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 หลัง จากที่กลุ่มทุน บริษัท บาลี ฮาย จำกัด ได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อเมืองพัทยา เพื่อก่อสร้างอาคารถาวรชนิด ค.ส.ล. 53 ชั้น จำนวน 1 หลัง ขนาด 315 ห้อง ที่ความสูงประมาณ 180 เมตร เพื่อใช้เป็นอาคารชุดพักอาศัย พื้นที่จำนวน 38,503 ตารางเมตร  บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยาและพวกได้พิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ ฟรอนด์ ด้วยถือว่าเป็นการพิจารณาอนุญาตอย่างถูกต้อง หลังทางโครงการได้ยื่นเอกสารสำคัญประกอบการพิจารณา ทั้งเรื่องกรรมสิทธิ์เอกสารการครอบครองที่ดิน แบบแปลนอาคาร รายงานผล กระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และข้อมูลอื่นๆ ประกอบร่วมเพื่อให้เมืองพัทยาตรวจสอบ ดังนั้นการพิจารณาออกใบอนุญาตจึงถือว่าเมืองพัทยาทำตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ รวมไปถึงการพิจารณาต่อใบอนุญาตครั้งแรกหลังผ่านพ้นเวลาตามกำหนดของกฎหมายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งมีเงื่อนไขของการพิจารณาว่าโครงการจะต้องมีความคืบหน้าของการก่อสร้างไปในสัดส่วน 10% ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่าเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน
 
กระทั่งต่อมา นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาขณะนั้น  ได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างโครงการลง โดยระบุว่าเมืองพัทยาไม่สามารถต่อใบอนุญาตก่อสร้างในรอบที่ 3 ให้ได้เนื่องจากตรวจพบว่าทางโครงการมีการก่อสร้างผิดแบบตั้งแต่ฐานราก และยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักการช่าง เข้าตรวจสอบสภาพตัวอาคารเพื่อให้แก้ไขรายละเอียดแบบแปลนรวม 42 จุด ซึ่งเรื่องนี้ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานเช่นกัน กระทั่งในช่วงปลายปี 2559 ทางโครงการฯ ได้แจ้งต่อเมืองพัทยาว่าพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตามกฎหมาย รวมทั้งการลดระดับความสูงของอาคารลง 8 ชั้นเพื่อลดผลกระทบต่อภาคประชาชนที่กำลังต่อต้านอย่างหนัก เนื่องจากโครงการบดบังภูมิทัศน์และตั้งขวางแนวอนุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บนเขา สทร.5 พัทยา  โดยในช่วงที่เมืองพัทยายังไม่ออกใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้าง พร้อมมอบหมายให้นิติกรเข้าแจ้งความดำเนิน คดีต่อบริษัท บาลีฮาย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการใน 2 ข้อหาคือ 1.ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น และ 2.บุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณเชิงเขา จนต่อมาทำให้กลุ่มผู้ซื้อห้องพักรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิ และความเสีย หาย ทำให้โครงการต้องยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ หลังต้องแบกภาระหนี้กว่า 2.39 พันล้านบาทในปี 2561 แต่ศาลไม่รับคำร้อง
 
จากกรณีที่เป็นข่าวคราวใหญ่โตทางสื่อต่างๆเหตุที่ ปปช.ชี้มูลความผิด นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่จากเมืองพัทยาอีกจำนวนกว่า 10 ราย มีความผิดตาม ม.157 ก่อนขออำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ต่อมา นายอภิชาต วีปรปาล รองนายกเมืองพัทยา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ในปี 2560 ได้ลงนามคำสั่งเมืองพัทยาแบบ ค.15 ประกาศให้มีการรื้อถอนอาคาร กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคาร หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต โดยแจ้งความไปยัง บริษัท บาลีฮาย จำกัด  ให้ทำการรื้ออาคาร ค.ส.ล.50 ชั้น 3 ชั้นใต้ดิน ในส่วนที่ไม่ตรงกับแบบแปลนที่ได้ รับอนุญาตให้แล้วเสร็จใน 365 วันหลังได้รับคำสั่ง โดยหากพ้นระยะเวลาที่กำหนดก็จะดำเนินการทางกฎหมาย 
 
 
จนมาในปี 2563 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาคนต่อมา ได้ลงนามหนังสือประกาศคำสั่ง เมืองพัทยา ลงวันที่ 27 ต.ค.2563  ออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมเสนอราคาและวิธีการรื้อถอนอาคารอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยมีเนื้อหาระบุว่า เมืองพัทยาจำเป็นต้องดำเนินการรื้อถอนอาคารโครงการฯ ซึ่งก่อ สร้างผิดแบบจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหลังมีคดีความยืดเยื้อมานานนับ 10 ปี จนกลายเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมว่าโครงการดังกล่าวจะจบลงอย่างสวยงาม และมีการใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการได้จริงเพียงใด 
 
มีรายงานเพิ่มเติมว่าในเวลาต่อมาทางคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จังหวดชลบุรี ได้มีมติยกเลิกเพิกถอนคำสั่งรื้อถอนของเมืองพัทยา โดยระบุว่าทางโครงการได้มาเสนอเรื่องเพื่อดำเนินการก่อสร้างและแก้ไขแบบแปลนต่อแต่เมืองพัทยาไม่พิจารณาอนุญาต อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องของการลงนามคำสั่งรื้อถอนอาคารนั้นพบ ว่าเป็นการลงนามของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าว จนมาในช่วงปลายปี 2565 ทางโครงการจึงได้มายื่นขอต่อใบอนุญาตก่อสร้างอีกครั้ง และเมืองพัทยากำลังพิจารณาความเหมาะสมแต่ก็มีหนังสือจาก ป.ป.ช.ให้ระงับการอนุญาตโครงการด้วย เพราะที่ดินที่ตั้งของโครงการมีการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จนเป็นที่มาของการที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จังหวัดระยอง ได้ออกหมายจับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
 
จากนั้น 2551 ถึงปัจจุบันนับรวมได้แล้วกว่า 16 ปี ความชัดเจน โปร่งใส ไร้ความอึครึมยังไม่มีให้เห็น และคงไม่มีใครกล้าให้คำตอบว่าสุดท้ายจะจบลงอย่างไร ด้านนายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่าสำหรับปัญหาของโครงการวอร์เตอร์ฟรนอด์ เกี่ยวพันในหลายส่วนงานและหลายในหลายประเด็น สิ่งแรกคือทางโครงการก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่กำหนดซึ่งตรวจสอบแน่ชัดแล้ว และเมืองพัทยาก็ได้มีคำสั่งให้ทำการรื้อถอนอาคารไปแล้ว แต่ติดปัญหาอยู่ที่ ป.ป.ช.ซึ่งกำลังรอให้ทางกรมทีดินออกมาชี้ขาดว่าแปลงของที่ดินโครงการวอณ์เตอร์ฟรอนด์นั้นสุดท้ายแล้วเป็นที่ดินที่ได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ และจะมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดหรือไม่อย่างไร ซึ่งแม้จะมีหนังสือทวงถามไปแล้วแต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ด้วยแปลงที่ดินของวอร์เตอร์ฟรอนด์ถือเป็นส่วนหนึ่งในที่ดินที่มีการแบ่งโฉนดออกจำหน่าย ซึ่งส่วนนี้มี 3 แปลงที่ถือกรรมสิทธิ์โดย บ.อาชาแลนด์ ที่ศาลพิพากษาชี้ขาดและกรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดเนื่องจากเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องไปแล้ว โดยใช้หลักเกณฑ์การตรวจสอบจากแผนที่ทางอากาศที่พบว่าที่ดินพื้นที่ไม่มีสภาพการทำกินก่อนที่จะออกกฎหมายให้แจ้งสิทธิ์ครอบครองที่ดินทำกินจึงเชื่อได้ว่าเป็นที่ดินสาธารณะ แต่ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาอุทธรณ์จากผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์  
 
นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวต่อไปว่าสุดท้ายหากที่ดินแปลงดังกล่าวสรุปว่าเป็นที่ดินสาธารณะจริง เรื่องนี้จะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับประ เทศเพราะไม่เคยเกิดว่าว่าโฉนดที่ซื้อมาถูกต้องแต่ออกมาโดยมิชอบ แต่ถ้าเป็นเช่นกันจริงความเสียที่เกิดขึ้นทั้งผู้ซื้อห้องชุด ที่ดิน ก็ต้องไปไล่เบี้ยกันเองเป็นทอดๆไปจนไปถึงกรมที่ดิน ส่วนใครจะเข้ามาเยียวยาวนั้นเรื่องนี้คงต้องเป็นเรื่องที่รัฐบาลเข้ามาดูแลว่าจะต้องมีการออกฎหมายพิเศษหรือไม่ อาทิหากเป็นที่ดินสาธารณะแล้วรัฐขออาจขอนำอาคามาใช้ประโยชน์อย่างอื่น อาทิ หอสังเกตการณ์ อาคารสำนักงานท่าเรือ เป็นต้น เพราะสุดท้ายหากเมืองพัทยาเข้าไปรื้อถอนตามกฎหมายก็ยังคงหาความชัดเจนไม่ได้ว่าจะเรียกเก็บค่าดำเนินการจากใครได้
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 กันยายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...