เพจเฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย โดยได้รวบรวมประเด็นและตอบคำถามต่างๆ ที่สื่อมวลชนไทยให้ความสนใจ เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา
1. นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นตลาดหลัก และประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่ของโลก จีนดำเนินตามยุทธศาสตร์การเปิดประเทศที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญ จีนมีส่วนร่วมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ประมาณ 30% มานานกว่า 10 ปีติดต่อกัน จีนมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมที่มีคุณภาพสูงและเปิดกว้าง เพื่อบรรลุถึงความทันสมัยอย่างครอบคลุม
โลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย จีนยินดีที่จะเพิ่มเสถียรภาพให้กับโลกด้วยการพัฒนาอย่างสันติ และเสนอโอกาสใหม่ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของโลกด้วยการพัฒนาแบบเปิดกว้างของตัวเอง โดยทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ
2. ประเมินผลความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีนเป็นอย่างไร?
จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เปรียบเหมือนเป็นญาติที่ดีที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด เป็นหุ้นส่วนที่ดีที่มีอนาคตร่วมกัน ประชาชนทั้ง 2 ประเทศมีความใกล้ชิดดุจพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยที่สำคัญ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมากกว่า 40% เฉพาะทุเรียนเพียงรายการเดียวก็มีมูลค่า 4,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปีที่ผ่านมา กิจการต่างๆ ของจีนยังเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง จากสถิติเบื้องต้นพบว่า บริษัทจีนลงทุนในไทยมากกว่า 1,000 แห่ง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นโครงการการลงทุน 588 โครงการ มูลค่าการลงทุนเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานใหม่ และการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก มีส่วนสนับสนุนที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย การจ้างงาน การเก็บภาษี การฝึกอบรมบุคลากร สวัสดิการสังคม และด้านอื่นๆ
ไทยยังเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนไทยสูงถึง 11 ล้านคน ในปีนี้ทางการไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะสูงถึง 8 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 350,000 ล้านบาท
จีนมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาของจีนจะยังประโยชน์ให้ไทย โดยจีนยังคงตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนความทันสมัยอย่างครอบคลุม จีนกลายเป็นตลาดหลักของโลก ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไทย-จีนมีการเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับระบบเศรษฐกิจ และการค้า เราเชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จะมีอนาคตขยายตัวมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้ง 2 ประเทศมากยิ่งขึ้น
3. มองความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
การค้าระหว่างจีนและไทย มีโครงสร้างที่ชดเชยซึ่งกันและกัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยก่อนปี 2562 จีนขาดดุลและไทยเกินดุล แต่หลังจากปี 2563 ได้เปลี่ยนเป็นจีนเกินดุลและไทยขาดดุลเป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจ และการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่การขาดดุล หรือเกินดุล ไม่สามารถมองอย่างง่ายๆ ว่าใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ สิ่งสำคัญคือ ขึ้นอยู่กับว่าการค้าที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการ และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ จีนมีตลาดที่ใหญ่มาก แต่ไม่เคยตั้งเป้าว่าจะต้องเกินดุลการค้ากับไทย จีนยินดีเปิดตลาดให้ไทยส่งออกไปยังจีนมากขึ้น และได้อำนวยความสะดวก ออกมาตรการสนับสนุนในด้านต่างๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากจากสื่อท้องถิ่น และในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าจีนมายังประเทศไทย ความจริง เกือบ 80% สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน เป็นสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง ซึ่งถูกนำมาผลิต เพิ่มมูลค่า ก่อนการส่งออกในท้ายสุด
ส่วนสิ่งที่เรียกว่าสินค้าราคาถูกที่ดึงดูดความสนใจของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพ เสื้อผ้า และเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของยอดมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน หรืออีกแง่สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าแค่ครึ่งเดียวของสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจีน โดยสินค้าเกษตรเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เสริมความต้องการของประชาชนในแต่ละประเทศ เช่น ทุเรียนไทย ส่งออกไปจีน ส่วนส้มและผลไม้เขตอบอุ่นของจีนบางชนิด ส่งเข้ามาไทย
จากรายงานของสื่อ สินค้าจีนในบางส่วนมีปัญหาไม่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รวมถึง ไม่ได้มาตรฐานอื่นๆ เป็นต้น รัฐบาลจีนเรียกร้องให้บริษัทจีน และชาวจีนดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับในต่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยตลอด เราสนับสนุนรัฐบาลไทยให้เข้มงวดในการกำกับดูแลตามกฎหมาย แก้ไข ปราบปรามการละเมิดกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมา กิจการขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีของไทย เผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประกอบกับปัจจัยเชิงลบอื่นๆ ทำให้กิจการเอสเอ็มอี ประสบความยากลำบาก เราตระหนักดีถึงความสำคัญของกิจการเหล่านี้ เข้าใจถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้น เราเชื่อว่ากิจการเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ และเรายินดีที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ช่วยเหลือ พัฒนา ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างยั่งยืน ระหว่างจีนและไทย
4. มองบทบาทของวิสาหกิจจีนในไทยต่อการพัฒนาของประเทศไทยอย่างไร?
บริษัท หัวเว่ย เป็นบริษัทไฮเทคของจีนที่เพื่อนชาวไทยคุ้นเคย เมื่อท่านเดินเข้าไปในอาคารบริษัท หัวเว่ย ในประเทศไทย จะได้เห็นข้อความสะดุดตาว่า “Grow in Thailand, Contribute to Thailand” หรือ “เติบโตในไทย และมีส่วนช่วยเหลือประเทศไทย” ปรากฏอยู่ในสายตา สะท้อนให้เห็นแนวความคิดร่วมกันของบริษัทจีนมากกว่า 1,000 แห่ง ที่มาลงทุน และตั้งโรงงานในประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ในอีกด้านก็เป็นความปรารถนาดีของกิจการของจีนที่ต้องการช่วยเหลือ ยกระดับการพัฒนาของไทย ตอบสนองต่อความสัมพันธ์จีน-ไทย ที่ว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”
เรามั่นใจว่า การลงทุนของวิสาหกิจจีนช่วยให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำ 5G มาใช้เชิงพาณิชย์ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ในแนวหน้าในภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัลของจีนหลายแห่ง เช่น หัวเว่ย, ZTE และ China Mobile ไทยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว จีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน และมีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ มูลค่าผลผลิตรวมของนิคมอุตสาหกรรมระยองไทย-จีน มีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 80% ของผลผลิตเหล่านั้นส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
วิสาหกิจจีนที่มาลงทุนในไทย มุ่งมั่นที่จะพัฒนาแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกับกิจการของไทย ในการสร้างห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทานโดยใช้วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตในไทย เพื่อส่งเสริมพัฒนากิจการของคนไทย โดยสินค้าที่ผลิตและส่งออก มีการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยมากกว่า 40% และมีการขยายสัดส่วนการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยอย่างจริงจัง บริษัท Xinyuan Energy Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทย 459 ราย บริษัท China Resources Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 700 ราย และบริษัท SAIC Motor-CP มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 100 ราย รวมถึงวิสาหกิจจีนในประเทศไทย ยังปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเคร่งครัด
วิสาหกิจจีนยังช่วยเพิ่มการจ้างงาน และอบรมบุคลากร ไทยยังมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยต้องจ้างพนักงานไทย 4 คน ถึงจะยื่นขอใบอนุญาตทำงานพนักงานต่างชาติได้ 1 คน บริษัทจีนที่ลงทุนในไทยทำเกินกว่ากฎระเบียบเหล่านี้มาก สัดส่วนของพนักงานคนไทยของบริษัท SAIC Motor-CP อยู่ที่ระดับ 97.5% ของบริษัท Haier Thailand คือ 94% และของบริษัท Zhongce Rubber Thailand อยู่ที่ 92% คาดว่าบริษัทจีนได้สร้างงานกว่า 300,000 ตำแหน่ง พนักงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีค่าจ้างที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ยังได้รับการฝึกอบรมทักษะที่ดี เป็นบุคลากรที่มีทักษะเพิ่มขึ้นอีกด้วย การอบรมเพิ่มศักยภาพเหล่านี้ยังเปิดกว้างให้คนไทย ให้สังคมไทยอีกด้วย บริษัทหัวเว่ยได้จัดตั้ง Huawei ASEAN Academy (Thailand) ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรการอบรมแก่คนไทยไปแล้ว 96,200 คน
วิสาหกิจจีนในไทยมีความกระตือรือร้นกับสวัสดิการสาธารณะ ดำเนินการการกุศล และสนับสนุนการศึกษาสายอาชีพ การแพทย์และการดูแลสุขภาพ เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมไทย ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาอักษรเบรล สำหรับผู้พิการทางสายตา SANY Heavy Industry (Thailand) บริจาคทุนทรัพย์ให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า Sinohydro (Thailand) บริจาคกองทุนป่าชายเลนให้กับกรุงเทพฯ และ Haier Thailand ให้การสนับสนุนทางการเงินก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่น วิสาหกิจจีนหลายแห่งได้รับรางวัลที่มอบโดยหน่วยงานรัฐบาลไทย เช่น “รางวัลความสำเร็จด้านความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น” “รางวัลสถานประกอบการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการดีเด่น” และ “รางวัลนายจ้างดีเด่น”
จากรายงานของสื่อ และคดีที่เกี่ยวข้องที่ทางตำรวจไทยสอบสวน ชาวจีนบางคนได้เข้าร่วมในธุรกิจการบริการในประเทศไทย โดยมีคนเป็นจำนวนน้อยเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อลามก การพนัน และยาเสพติด และบางคนได้หลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายโดย “ให้คนอื่นถือหุ้นแทน” สำหรับปัญหาการละเมิดกฎหมายของท้องถิ่นที่ต้องสงสัยเหล่านี้ จีนสนับสนุนไทยในการสืบสวน และปราบปรามการกระทำเหล่านี้ตามกฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยของตลาดที่มีความเป็นธรรม และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ความจริงแล้ว หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของทั้ง 2 ประเทศได้ดำเนินการความร่วมมือที่ดีในการป้องปราบธุรกิจสีดำ และสีเทามาโดยตลอด
5. มองปัญหาใหม่ที่เกิดจาากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติอย่างไร?
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศต่างๆ ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาในการพัฒนาแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยอีคอมเมิร์ซช่วยลดขั้นตอนทางธุรกิจ ประหยัดต้นทุนการทำธุรกรรม และนำเสนอทางเลือกที่สะดวกมากขึ้นแก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบพิเศษของตนเอง ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ทำให้รูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านการแข่งขันที่รุนแรง และเกิดความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการควบคุมดูแลด้านการบริหาร คุณภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ของร้านค้า และผู้บริโภค
ดังนั้น เราต้องมีมาตรการรับมือ เพื่อเพิ่มจุดแข็ง และหลีกเลี่ยงจุดอ่อน แสวงหาข้อได้เปรียบ หลีกเลี่ยงข้อเสีย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซ
โดยก่อนหน้านี้ไทยได้การถ่ายทอดสดอีคอมเมิร์ซเพื่อนำสินค้าไปขายให้จีน ซึ่งขายได้สำเร็จถึง 4,000 ล้านบาท ภายใน 2 วัน และยังได้ใช้การถ่ายทอดสดทางอีคอมเมิร์ซเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 20 ล้านคน มียอดการทำธุรกรรมถึง 100 ล้านบาท จีนยินดี และส่งเสริมให้ไทยใช้ประโยชน์จากรูปแบบอีคอมเมิร์ซใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดจีน ยินดีที่จะกระชับความร่วมมือในการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกำกับดูแลตลาดอีคอมเมิร์ซ และร่วมกันใช้โอกาสใหม่ของยุคอินเตอร์เน็ต