กรมลดโลกร้อน เสริมพลังความร่วมมือเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเครือข่าย ทสม. จ.ระยอง พัฒนาสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชน เสริมคุณภาพชีวิต พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ล้วนเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้นการแก้ไขวิกฤตปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบต่อปัญหาโลกเดือดไม่ให้รุนแรงมากไปกว่านี้ จำเป็นต้องอาศัยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน โดยกรมลดโลกร้อน ได้ดำเนินการส่งเสริมและร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่าย ทสม. ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ไปสู่เป้าหมายในระดับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"พื้นที่จังหวัดระยองนับว่าเป็นเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะเทศบาลเมืองมาบตาพุด ที่มีการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างสมดุล จนได้รับ “รางวัลเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับเงิน” ปี 2566 อีกทั้งมีเครือข่าย ทสม. ตำบลวังหว้า จังหวัดระยอง เครือข่ายชุมชนที่ดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมด้านการจัดขยะ ที่เป็นต้นเหตุหนึ่งภาวะโลกเดือด ซึ่งได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาแถมยังสร้างรายได้กลับคืนสู่ชมชน จนได้รับรางวัลเครือข่าย ทสม. ดีเด่น ระดับภาค ด้านการจัดการขยะมูลฝอย ในปี 2562 และสามารถถ่ายทอดความรู้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ"
นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง กล่าวว่า เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีแผนพัฒนาท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของเทศบาลด้านที่ 4 การจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม พัฒนา ป้องกัน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่คุณภาพชีวิตของประชาชน มีศูนย์บริการสาธารณสุขที่เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองมาบตาพุดและภาคอุตสาหกรรม 7 แห่ง
และที่สำคัญได้ดำเนินกิจกรรมธนาคารขยะประกันชีวิต มีการจัดการและคัดแยกขยะรีไซเคิลอย่างถูก ต้องทำให้ในปี 2566 รวบรวมขยะรีไซเคิลได้ 20,996 กิโลกรัม และสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 52,710 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ มีระบบการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ กว่า 80 จุด รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพหรือสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในพื้นที่ พร้อมแจ้งเตือนผลการตรวจวัด
รวมถึงการจัดการภัยพิบัติและสาธารณภัยอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และศูนย์บัญชาการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและกระจายข่าว (EIC) ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและการสื่อสารแจ้งเหตุได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
พร้อมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินเทศบาลเมืองมาบตาพุด (ศปฉ.ทม.มาบตาพุด) เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นในเขตพื้นที่ และที่สำคัญมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างเศรฐกิจชุมชนควบคู่ไปด้วยหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” แก้ไขสิ่งที่ต้องการอย่างตรงจุด พัฒนาอย่างถูกต้อง บูรณาการจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ยกระดับการเกษตร “มะม่วงพื้นทราย” ดั้งเดิมจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ “ไม่ใช่แค่มะม่วง แต่คือชีวิต” เป็นความภาคภูมิใจ สร้างมูลค่าของสินค้าเกษตร ยกระดับสินค้าชุมชน สร้างรายได้และช่องทางเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กรมโลกร้อนยังได้ชู “เครือข่าย ทสม. ตำบลวังหว้า จังหวัดระยอง” ต้นแบบจัดการขยะชุมชน แปลงขยะ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ในชุมชนเคหะวังหว้า ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดการปัญหาได้เต็มรูปแบบ จนยกระดับสู่ “ชุมชนต้นแบบ” ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ได้รับรางวัลเครือข่าย ทสม. ดีเด่น ระดับภาค ด้านการจัดการขยะมูลฝอย ในปี 2562 และเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรม
การจัดการขยะของชุมชนวังหว้า เป็นแบบอย่างด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ดำเนินการโดยผู้นำชุมชนร่วมกับชาวบ้าน ร้านค้า และโรงเรียนในชุมชน ซึ่งการจัดการขยะในชุมชนที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะแล้ว ยังช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการคัดแยกและจัดการขยะให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมก่อนส่งให้โรงงาน รวมทั้งชุมชนได้มีการนำขยะจากขวดพลาสติกไปทำการหลอมผลิตเป็นเส้นหวายเทียม และนำไปผลิตสินค้าหัตถกรรม สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน นอกจากนี้ ขยะบางส่วนยังนำไปหลอมและผสมกับวัสดุประเภทปูนทราย เพื่อทำอิฐบล็อค ส่วนขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหาร มีการนำไปเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ ทำน้ำหมักชีวภาพให้ชุมชนใช้ฟรี และทำปุ๋ยอินทรีย์ และนำไปใช้ทั้งภายในชุมชน และนำไปขายเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย
ทั้งนี้ จุดเด่นของชุมชนวังหว้า อยู่ที่ความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยที่อาสาตัวเข้ามาร่วมพัฒนาชุมชน ด้วยกระบวนการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ นำขยะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร นำไปสู่การจัดการขยะแบบยั่งยืน และสร้างสวัสดิการมากมายให้คนในชุมชนในการแปลงขยะไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกคนในชุมชนอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งผลงานของชุมชนวังหว้า ไม่เพียงแต่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ยังได้มีโอกาสแสดงผลงานการจัดการขยะของประเทศไทยไปสู่ระดับนานาชาติ จะเห็นได้ว่าจากชุมชนที่เกือบจะอยู่กับกองขยะ ตอนนี้วังหว้ากลายมาเป็นต้นแบบที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป