นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ มีมติแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบต่อเกษตรกร จากการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน ฉบับที่ 629 พ.ศ. 2560 ซึ่งคณะทำงานได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มาให้ข้อมูลและร่วมกันพิจารณา
โดยที่ประชุมเห็นว่า ในมาตรา 8 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ที่กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายโดยเหมาร้อยละ 60 เว้นแต่จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น จึงยอมให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็น แต่เกษตรกรมีข้อจำกัดเรื่องการแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ประกอบกับจากข้อเท็จจริงจากข้อมูลเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรปี 2555-2559 ของศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายจริงต่อรายได้เฉลี่ย 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 82.56 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ที่กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ร้อยละ 80-85 ของเกษตรกรภาคการผลิต ที่ประชุมจึงมีมติให้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาปรับปรุงกำหนดค่าใช้จ่าย ดังกล่าวอีกครั้ง
นายสิทธิพรกล่าวต่อว่า สภา เกษตรกรฯได้นำมติของที่ประชุมคณะทำงาน จัดทำข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี คือเสนอให้พิจารณาปรับปรุงกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินของภาคเกษตรกรรม ตามรายการที่ระบุในมาตรา 8 กฎหมายดังกล่าว ซึ่งระบุผู้มีเงินได้จากภาคเกษตรกรรม จำนวน 7 รายการ คือ การทำน้ำตาล หรือน้ำเหลืองของน้ำตาล, การจับสัตว์น้ำ, การทำเกษตรกรรมประเภทไม้ล้มลุกและธัญชาติ, การอบ หรือบ่มใบยาสูบ, การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้, การฆ่าสัตว์จำหน่าย รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้, และการทำนาเกลือ ซึ่งจากกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายโดยเหมาร้อยละ 60 เป็นกำหนดให้หักค่า ใช้จ่ายโดยเหมาร้อยละ 85 เว้นแต่ผู้มีเงินได้จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยขอให้การพิจารณาปรับปรุงมีผลบังคับใช้ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ปีปัจจุบัน เพื่อลดความเดือดร้อนของภาคเกษตรกรรมจากกฎหมายดังกล่าว