นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้หารือกับอุตสาหกรรมจังหวัดถึงแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ และร่วมหาทางออกปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจการในลักษณะประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคกลางตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 13,881 ตารางกิโลเมตร โดยโครงสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ขึ้นอยู่กับภาคการผลิต 4 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาเกษตรการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจและการประมง สาขาอุตสาหกรรม สาขาการค้าส่งและการค้าปลีก และสาขาการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นสาขาที่มีศักยภาพที่สำคัญ เนื่องจากมีสถานที่ที่มีชื่อเสียงทั้งทางทะเล ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประวัติศาสตร์ ส่วนภาคการเกษตรมีพื้นที่ 3.26 ล้านไร่(คิดเป็น 37.55% ของพื้นที่กลุ่มจังหวัด) ผลผลิตที่สำคัญ คือ สับปะรด มะพร้าว กล้วยหอมทอง ข้าว มะนาว กล้วยไม้ กุ้งทะเล โคเนื้อ และโคนม ทั้งนี้ ในปี 2559 มีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวประชาชน (GPP per capital)เฉลี่ยที่ 186,272 บาท /ปี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม โรงงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงสุดอยู่ที่จังหวัดนี้ด้วย เนื่องจากเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งส่งออกอาหารทะเล
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการแห่งแรกที่บริษัท สุคันธา ไทยสแน็ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวภายใต้แบรนด์"ข้าวตังสุคันธา" โดยบริษัทฯ ได้มีการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและได้มาตรฐานสากลทั้ง GMP, HACCP นอกจากนั้น ยังได้สร้าง Outlet ขึ้นในพื้นที่หน้าโรงงานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะซื้อข้าวตังเป็นของฝาก และเป็นศูนย์กระจายสินค้า OTOP ในชุมชนด้วย
สำหรับการเยี่ยมชมสถานประกอบการแห่งที่ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปที่ยังศูนย์แปรรูปผลผลิตเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรละหานใหญ่สามัคคี สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรใน อ.บ้านลาด ที่ในอดีตต่างประกอบอาชีพทำนา และทำการเกษตรอื่น ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ เกษตรกรเหล่านี้จึงรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี ขึ้นอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ทั้งสองสถานประกอบการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การพัฒนาคลัสเตอร์อาหาร OPOAI การยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP การเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ การใช้ IT ในการบริหารจัดการ การต่อยอดธุรกิจผลิตภัณฑ์ใหม่ การสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ และยังได้เข้าร่วมในโครงการบริหารจัดการเกษตรครบวงจร และร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน (เน้นกลยุทธ์การตลาด) เป็นต้น