วันนี้ (23 ก.ย. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.เอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(ฝ่ายการเมือง) นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ปัจจุบัน (23 ก.ย.67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 53,859 ล้าน ลบ.ม. (71% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 22,479 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 16,348 ล้าน ลบ.ม. (66% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 8,523 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก จากฝนที่ตกด้านท้ายเขื่อน
ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,290 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกด้านท้ายเขื่อนสิริกิติติ์ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาด้วยการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,049 ลบ.ม./วินาที โดยจะพิจารณาปรับการระบายให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกเพิ่มในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ กรมชลประทาน ได้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ ด้วยการแขวนบานประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำในลำน้ำไว้รองรับปริมาณฝนที่ตกในช่วงนี้ พร้อมเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงปลายเดือนกันยายนประเทศไทยจะยังคงมีฝน ส่วนมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณดังกล่าว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงถึงมากกว่าค่าปกติ จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด มีการใช้ระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างเชื่อมโยงกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์