นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเตรียมรับมือภัยแล้งที่จะมาถึง ว่า จากสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (13 ก.พ. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 57,595 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2559 รวม 8,240 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 33,676 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 65 ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 17,845 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 11,149 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ส่วนสถานการณ์น้ำท่าในลำน้ำสายหลักทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย
ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั้งประเทศ (ณ 7 ก.พ. 61) มีการเพาะปลูกไปแล้ว 11.87 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 81 ของแผน (แผน 14.59 ล้านไร่) เฉพาะข้าว มีการเพาะปลูกไปแล้ว 9.96 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 85 ของแผน (แผน 11.69 ล้านไร่) ส่วนผลการเพาะปลูกฤดูแล้งเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.33 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผน (แผน 7.76 ล้านไร่) เฉพาะข้าว มีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.69 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผน (แผน 7.06 ล้านไร่) โดยในเขตชลประทาน มีการปลูกข้าวเกินแผนไป 0.38 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าการเก็บเกี่ยวจะเริ่มเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม 1.48 ล้านไร่ เมษายน 2.52 ล้านไร่ และพฤษภาคม 5.96 ล้านไร่ โดยเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์การเพาะปลูกข้าว ปี 2560/61 และ ปี 2559/60 (ทั้งประเทศ) ณ ช่วงเวลาเดียวกัน มากกว่า 2.01 ล้านไร่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มากกว่า 0.95 ล้านไร่
ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิเคราะห์ปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ อยู่ในเกณฑ์ดี และมีปริมาณมากกว่าปี 59 พบว่า พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภาวะแห้งแล้ง มี 47 จังหวัด 3.82 ล้านไร่ (พื้นที่เสี่ยงสูง 0.23 ล้านไร่ ปานกลาง 2.59 ล้านไร่) ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน (ข้อมูล 18 ธ.ค. 60) และในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ประกอบดัวย 4 มาตรการ 18 โครงการ งบประมาณ 11,730.21 ล้านบาท สรุปผลการดำเนินงานดังนี้
มาตรการที่ 1 ส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยง ประกอบด้วย 1. ติดตามสถานการณ์น้ำ ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกพืช ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งตามช่วงเวลา พร้อมแจ้งข่าวสารพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งผ่านทางเว็บไซด์กรมพัฒนาที่ดิน 2. ปรับปรุงแผนที่แล้งซ้ำซากในพื้นที่ภาคตะวันออกแล้วเสร็จ 42%
มาตรการที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย 1. โครงการปลูกพืชหลากหลาย เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 38,629 ราย 326,711 ไร่ อยู่ระหว่างตรวจแปลงเกษตรกร 2. โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 15,096 ราย พื้นที่ดำเนินการ 175,631.10 ไร่ อยู่ระหว่างไถเตรียมดิน 40,378 ไร่ ส่วนที่เพิ่มเติมอย่ะหว่างรับสมัครเกษตรกร
3. โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ .รับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ ธ.ค. 60 – ก.พ. 61 ยื่นสมัครแล้ว 20 จังหวัด 731 ราย 5,770 ไร่ อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว 360 ราย 3,176 ไร่ 3 งาน(ข้าวโพดหมัก 2,674 ไร่ 2 งาน เมล็ด 502 ไร่ 1 งาน) 4. โครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 610,753 ไร่
มาตรการที่ 3 เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ประกอบด้วย 1. ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง ระบบกระจายน้ำ ดำเนินการแล้ว 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7 ของเป้าหมาย 2. สร้างแหล่งน้ำนอกเขตชป. แล้ว 13,970 บ่อ คิดเป็นร้อยละ 31 ของเป้าหมาย 3. ก่อสร้าง ขุดลอก/ปรับปรุงแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว 13 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 27 ของเป้าหมาย
นอกจากนี้ รวมถึงมาตรการที่ 4 การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย ประกอบด้วย 1. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบระทรวงการคลังฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง 2. การประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 3. การจ้างแรงงานชลประทาน โดยกรมชลประทาน 4. การสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สหกรณ์ที่ประสบสาธารณภัย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์