3 ต.ค.2567 นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังที่ นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ได้นำผู้บริหารกองทุนฯ เข้าพบ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับทราบนโยบายการดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟูฯ และเสนอแผนดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2568
โดย นางนฤมล ได้สอบถามถึงปัญหา และอุปสรรคในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรของ กฟก. ซึ่งนายสไกร ได้รายงานปัญหาและอุปสรรคของสมาชิก กฟก. ที่มาชุมนุมในขณะนี้คือเรื่อง การปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME)
ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 รัฐบาลชุดก่อนที่มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรมว.เกษตรฯ ได้เสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ให้ปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรลูกหนี้ 4 แบงค์รัฐ จำนวน 50,621 ราย และให้กฟก.เป็นหน่วยบริหารโครงการ ร่วมกับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก กฟก. มาลงทะเบียนรายงานตัวแล้วจำนวน 41,000 ราย ประสงค์เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 29,000 กว่าราย ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ 9,000 กว่าราย และยังไม่มารายงานตัว 8,000 กว่าราย
ขณะเดียวกันมีเกษตรกรที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มแรกที่ได้สิทธิ 50,621 ราย ได้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้ แทนกลุ่มที่ไม่ประสงค์และที่ไม่มารายงานตัวจำนวนประมาณ 16,000 ราย ภายใต้กรอบงบประมาณที่เจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยตามมมติครม. จำนวน 15,481 ล้านบาท ภายหลังการหารือ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รับจะนำเรื่องหารือกับท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้า ประชุม ครม. ต่อไป
นอกจากนั้น รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า รู้สึกสงสารและเป็นห่วงเกษตรกร ที่มาเดินขบวนและนอนค้างแรมข้างถนน บางวันฝนก็ตก การอยู่การกินก็ลำบาก ทำอย่างไรที่จะให้เกษตรกร ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาต่างๆและต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือไม่ต้องมาเดินขบวนและนอนค้างแรมข้างถนนอีกต่อไป
ซึ่งผู้บริหารกองทุนฯ ที่เข้าพบแจ้งว่า คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้เสนอตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อให้มีตัวแทนแต่ละองค์กรในแต่ละภาคเข้ามาร่วมพิจารณารับทราบปัญหาและแก้ไขร่วมกัน ซึ่งนางนฤมล รับจะรีบดำเนินการประสานรองนายกรัฐมนตรีที่รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ โดยเร็วต่อไป
สำหรับภารกิจด้านการจัดการหนี้ของเกษตรกร ขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 5.55 แสนราย จำนวน 8.89 สัญญา วงเงิน 137,000 ล้านบาท จำนวนหนี้ดังกล่าว กฟก.จะขอให้รัฐบาลช่วยปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ 4 แบงค์รัฐ ส่วนการชำระหนี้แทนเกษตรกรซึ่ง กฟก.ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อปี 2549-2567 จำนวน 35,343 ราย จำนวน 35,818 สัญญา มูลหนี้ 11,097 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) วงเงิน 10,481 ล้านบาท เกษตรกร 34,555 ราย สถาบันเกษตรกร 7,032 ล้านบาท จำนวน 26,682 ราย และธนาคารพาณิชย์ นิติบุคคล ธกส. จำนวน 3,449 ล้านบาท จำนวน 7,873 ราย ปัจจุบัน กฟก.ได้รักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิก จำนวน 28,635 แปลง เนื้อที่ 192,511 ไร่ 2 งาน 71.2 ตารางวา