DPU จับมือ สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล และ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เปิดคลาสเรียน “หนีห่าว สนทนาจีนภาษาคนข่าว” เพื่อยกระดับงานด้านสื่อสารมวลชนไทย-จีน
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 อาจารย์พูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ที่ปรึกษาอธิการบดีอาวุโส มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ในฐานะเลขาธิการและกรรมการบริหารสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล เป็นประธานเปิดโครงการ “หนีห่าว สนทนาจีนภาษาคนข่าว” ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล และสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารทั้งการ ฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาจีนในระดับขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเรียนรู้ภาษาจีนเพื่อสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการทำงานด้านสื่อสารมวลชน นอกจากนี้ยังเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีของชาวจีนผ่านภาษาที่ใช้ด้วย โดยมี อาจารย์เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายไทย) พร้อมด้วย รศ.เฉิน เวย ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายจีน) ตลอดจนสื่อมวลชนจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้อง 253 อาคาร 2 ชั้น 5 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
อาจารย์พูลศักดิ์ ประณุทนรพาล เลขาธิการและกรรมการบริหารสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล เปิดเผยว่า สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ก่อตั้งขึ้นโดยสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ตั้งแต่เมื่อปี 2558 โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน โดยสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยได้เป็นหน่วยงานดำเนินการ และเป็นสาขาที่ 1 ของสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ทั้งนี้สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล DPU ได้ดำเนินการภายใต้คำแนะนำของสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีมาอย่างต่อเนื่อง ในการจัดกิจกรรมสอนภาษาและวัฒนธรรมจีน , การจัดการแข่งขันภาษาจีน , การมอบทุนการศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือเพื่อยกระดับการสอนภาษาจีนให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆทั่วประเทศไทย
ด้าน รศ.เฉิน เวย ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายจีน) กล่าวว่า ภาษาทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ซึ่งการเรียนภาษานั้นจะต้องมีการเรียนวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย สถาบันขงจื่อฯ มีความร่วมมือกับผู้สื่อข่าวประเทศไทยและจีน จึงได้จัดการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้นโดยได้สอดแทรกวัฒนธรรมจีนเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ให้กับผู้อื่น และสามารถพัฒนาภาษาจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หวังว่าทุกคนจะได้เรียนอย่างสนุกสนามสามารถพัฒนาภาษาจีนให้กับตนเองมากขึ้น
ดร.กำพล มหานุกูล นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน กล่าวว่า บรรยากาศการเรียนในวันนี้ดีมาก มีผู้ใหญ่ในวงการสื่อทั้งระดับบรรณาธิการ (บก.) และ พี่น้องสื่อมวลชนมาเรียนจำนวนมาก ซึ่งมองว่าทุกคนให้ความสำคัญเกี่ยวกับภาษาจีน ซึ่งต้องยอมรับว่าภาษาจีนเป็นภาษาที่สำคัญระดับโลก การมาเรียนรู้ภาษา มีส่วนสำคัญสำหรับผู้สื่อข่าวที่เริ่มต้นสื่อสารให้ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสบการณ์การใช้ภาษาทั้งการเขียน การพูดให้สามารถสื่อสารและเข้าใจศัพท์หรือตัวสะกดได้ อย่างไรก็ตาม ตนเข้าร่วมโครงการ ฯ เพื่อรื้อฟื้นภาษาจีน ทั้งการพูด อ่าน เขียน ให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น