สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติด้านสมาร์ทซิตี้ระดับโลก 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE-ISC2- 2024) เป็นครั้งแรกของไทยและอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “เมืองอัจฉริยะ: การปฏิวัติเพื่อมนุษยชาติ” ระดมผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักพัฒนาสมาร์ทซิตี้จากทั่วโลกมาร่วมพัฒนาวางแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอนาคต โดยภายในงานจะได้พบกับการประชุมเชิงวิชาการในด้านสมาร์ทซิตี้ในทุกสาขา และการจัดนิทรรศการแสดงถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะที่ล้ำยุค
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ นายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) หรือ IEEE Power & Energy Society (Thailand) และในนามผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแนวทางหลักของการพัฒนาเมืองทั่วโลก เนื่องจากจะช่วยยกระดับการอำนวยความสะดวกในทุกด้าน ทั้งในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ลดปัญหาการจราจร เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังก่อให้เกิดแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับโลกในปัจจุบันและอนาคต
ด้วยความสำคัญดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้สร้างกระแสการพัฒนาเมืองของไทยไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ในหลายพื้นที่ทั้งการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น จึงทำให้ไทยก้าวขึ้นมีความโดดเด่นในด้านนี้ โดยล่าสุดสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) หรือ IEEE PES Thailand Chapter ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติด้านเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 10 หรือ 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE-ISC2- 2024) ในระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ แกรนด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี ภายใต้แนวคิดหลัก “เมืองอัจฉริยะ: การปฏิวัติเพื่อมนุษยชาติ” ซึ่งได้จัดขึ้นที่ประเทศไทยรวมถึงอาเซียนเป็นครั้งแรก หลังจากได้มีการจัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปีในหลากหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกา
รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อุปนายกด้านการจัดประชุมวิชาการ (IEEE PES Vice Chair Meeting and Conference) กล่าวว่า “การจัดงาน IEEE International Smart Cities Conference ถือได้ว่าเป็นการจัดงานด้านสมาร์ทซิตี้ที่สำคัญของโลก เนื่องจากเป็นเวทีการประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย จากหลากหลายสาขาในองค์กรชั้นนำทั่วโลกได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยเจาะลึกหัวข้อพิเศษ อาทิ การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเมืองอัจฉริยะ, การสร้างสมดุลความปลอดภัยทางไซเบอร์และการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ, การเดินทางอย่างชาญฉลาดอย่างยั่งยืน: สำรวจโอกาสและรับมือกับความท้าทาย, ไฮโดรเจนในฐานะพาหนะพลังงานสีเขียวทางเลือก, การจัดการรถไฟอัจฉริยะ: การเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และประสบการณ์ของผู้โดยสาร และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และขยายเครือข่ายความร่วมมือ รวมทั้งกิจกรรมที่หลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญ วิทยากร ผู้บริหารเมืองอัจฉริยะทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ”
ทางด้าน รศ.ดร.มนตรี วิบูลยรัตน์ ประธานการจัดงานประชุม IEEE ISC2 2024 ได้เพิ่มเติมว่า การประชุม IEEE ISC2 2024 มุ่งเน้นในหัวข้อ "เมืองอัจฉริยะ: การปฏิวัติเพื่อมนุษยชาติ" โดยนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในเมือง ผู้เชี่ยวชาญจะหารือเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การจัดการพลังงาน การเดินทาง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ISC2 2024 เป็นเวทีสำหรับความร่วมมือระดับโลก เพื่อให้เทคโนโลยีเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ มาร่วมสร้างเมืองแห่งอนาคตไปด้วยกัน
สำหรับการประชุมวิชาการ IEEE-ISC2-2024 จะประกอบด้วยการนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 200 ฉบับ ในหัวข้อที่สำคัญ เช่น การบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในเมืองอัจฉริยะ, แอปพลิเคชันขั้นสูงและการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับเมืองอัจฉริยะ, ที่อยู่อาศัยใหม่ในเมืองอัจฉริยะ, ศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีคลาวด์ และสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ เป็นต้น โดยจะมีกลุ่มเป้าหมายหลักเข้าร่วมงานประชุมวิชาการ และเยี่ยมชมนิทรรศการ ประมาณ 500 คน ทั้งผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักพัฒนา นักวิชาการ นักศึกษา นักวิเคราะห์นโยบาย สถาปนิก วิศวกร ของหน่วยงาน และองค์กรภาครัฐภาคเอกชน ผู้สนใจในด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับการ พัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนผู้บริหารเมืองอัจฉริยะทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และคาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีจัดแสดงนวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านเมืองอัจฉริยะ โดยมีไฮไลท์ที่สำคัญจากผู้สนับสนุนหลักในการจัดแสดงนำโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), IEEE DataPort รวมทั้งยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีอัจฉริยะจากบริษัทชั้นนำระดับนานาชาติ อาทิ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) และบริษัท ชไนเดอร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) ที่เป็นผู้สนับสนุนระดับไดมอนด์ จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยในการแสดงศักยภาพด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กระตุ้นการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมสำหรับเมืองอัจฉริยะ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้นำด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต
ด้าน นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บมีความยินดีที่จะสนับสนุนการจัดงาน The 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE ISC2 2024) ซึ่งเชื่อมั่นว่างานประชุมดังกล่าวจะสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อเนื่องจากการจัดงาน สร้างคุณูปการในระยะยาวต่อเมืองพัทยา รวมไปถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และประเทศไทยไปจนถึงระบบนิเวศด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของโลกอีกด้วย
การจัดงานประชุมนานาชาติ IEEE ISC2 2024 ยังสอดคล้องกับนโยบาย Ignite Thailand ด้านวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย อีกทั้งยังตรงตามอุตสาหกรรมเป้าหมายของทีเส็บในการผลักดันให้เกิดการจัดงานประชุมนานาชาติด้าน Urban Quality of Life and Mobility เพื่อเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
ทีเส็บขอขอบคุณสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี ประเทศไทย สำหรับการสร้างคุณูปการต่ออุตสาหกรรมการจัดประชุมนานาชาติของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทีเส็บยินดีสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมมือกับสมาคมฯ เพื่อนำงานสำคัญๆ ของ IEEE อีกหลายๆ งานมาจัดที่ประเทศไทยในอนาคต
เตรียมพบกับการประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE-ISC2-2024) ครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิดหลัก “Smart Cities : Revolution for Mankind” ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ แกรนด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี