วันนี้ (9 ตุลาคม 2567) ณ หอประชุมสุนันทานุสรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พลอากาศเอกสุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 ให้เกียรติกล่าวให้โอวาทในการอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาลฉุกเฉินและการกู้ชีพขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และรองรับงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยมีนายโฆสิต สุวินิจจิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในพิธี เรืออากาศเอก อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐภัทร แก้วรัตนภัทร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ให้การต้อนรับ
พลอากาศเอกสุบิน กล่าวว่า ทักษะการฟื้นคืนชีพเบื้องต้นหรือการทำ CPR และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ เครื่อง AED นั้น มีความสำคัญยิ่งต่อการช่วยชีวิตประชาชนในยามวิกฤต ซึ่งการอบรมเป็นการพัฒนาทักษะการช่วยชีวิตฉุกเฉินสำหรับประชาชน เพื่อให้ประชาชน มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ การปฐมพยาบาลฉุกเฉินเบื้องต้น สามารถช่วยชีวิตบุคคลที่อยู่ในภาวะวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ในโอกาสอันสำคัญของงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญที่มีประชาชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาสาสมัครจะเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมใจกันเป็นจิตอาสาสนับสนุนในกิจกรรมดังกล่าวที่จะเป็นการถวายพระเกียรติ และความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
นายโฆสิต สุวินิจจิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง การยกระดับความปลอดภัยโดยการฝึกสอนอาสาสมัคร และจิตอาสาให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย และการช่วยชีวิต ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “นักท่องเที่ยวปลอดภัย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่จะเข้าร่วมชมงานพระราชพิธีอีกทางหนึ่ง
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ประชาชน มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ สามารถตอบสนองต่อการดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในช่วงพระราชพิธีสำคัญ ด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุได้ โดยการอบรมมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นราว 600 คน จากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 กองบังคับการตำรวจน้ำ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หลักสูตร บบส. กรมส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรมและเครือข่าย ส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนและนิติการ วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาลัยชุมชนสุมทรสาคร มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ สมาคมผู้ประกอบการเรือไทย และมูลนิธิร่วมกตัญญู ที่จะสามารถปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น และการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานได้
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมชมงานพระราชพิธี มั่นใจในการดูแลความปลอดภัยด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หากพบเหตุบาดเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669 และขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่อยู่โดยรอบบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เลขาธิการ สพฉ. กล่าว