เมื่อวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ในการเสวนาเตรียมพร้อมรับมือ Rain Bomb เฝ้าระวังปริมาณน้ำฝนชุมชนหลักหก หมู่บ้านเมืองเอก ณ ห้องประชุม 6-200 อาคาร 6 มหาวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ประเทศไทยสภาพอากาศเปลี่ยนไปแล้วอุณหภูมิไม่เหมือนเดิม จะตั้งรับแบบเดิมเมื่อ 20-30ปีก่อนไม่ได้ต้องปรับใหม่ทั้งการจัดการและกฎระเบียบต่างๆ
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีผลต่อผลผลิตทางการเกษตร 2 ปีก่อน กระทรวงเกษตรฯ บอกว่า ทุเรียนและมะพร้าวเสียหาย 8 หมื่นล้านบาท น้ำท่วมภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย กระทบธุรกิจและการท่องเที่ยว ศูนย์วิจัยกรุงศรีอยุธยาบอกว่าปีนี้เสียหายอย่างน้อย 1 แสนล้านบาท ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องคิดและมองยาวๆไม่ใช่แค่ให้เงินเยียวยาเป็นครั้งคราวแล้วไปเสี่ยงภัยในปีต่อๆไปอีก
ปทุมธานี อนาคตอากาศจะร้อนมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้วไป ไม่ได้คิดทำอะไรยาว ผู้นำท้องถิ่น อบจ.และ อบต ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านต้องร่วมมือกันเป็นตัวนำในการวางแผนป้องกันระยะยาว ฝนรายปีมีโอกาสแล้งและท่วม ปทุมธานีอยู่ในลุ่มเจ้าพระยา น้ำทะเลก็มีส่วน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หนีไม่พ้นถ้าปล่อยแบบเดิมเกิดขึ้นแน่นอน
ปีนี้ปิดประตูน้ำท่วมหลากแบบปี 2554 เพราะฝนไม่ตกมากแบบปี 2554 ยกเว้นว่ามีพายุเข้า พายุปกติปีละ 25 ลูก ปีนี้คาดว่ามี 24 ลูก เกิดไปแล้ว 17 ลูก เหลืออีก 7 ลูกที่คาดว่าเป็นไต้ฝุ่น ช่วง 21 ตุลาคม – 11 พฤศจิกายนยังมีความเสี่ยงเรื่องพายุ จับตาน้ำหลากภาคกลาง น้ำท่วมรอระบาย และน้ำทะเลหนุน ปทุมธานีผู้ที่อยู่ริมคลอมเปรมประชากรจะมีความเสี่ยงมาก
นายวิรวัฒน์ ผสมทรัพย์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ กรมชลประทาน กล่าวว่าปัจจัยน้ำท่วมในพื้นที่ปทุมธานีคือน้ำเหนือ น้ำฝนและน้ำหนุน น้ำเหนือตัดไปได้เลยเพราะมีหลายเขื่อนคอยกักเก็บ ปัจจุบันสถานีสูบน้ำ 4 แห่งมีความพร้อม มีการประสานงานกันและมีการพร่องน้ำไว้ก่อน หากฝนตกหนักจะมีการระบายออก
คลองเปรมประชากรต้องเพิ่มความจุให้น้ำอยู่ ทราบว่ามีปัญหาตื้นเขินจากการถมดินลงคลอง ทางกรมชลประทานมีการตั้งงบประมาณในการขุดลอก แต่กลัวตลิ่งพังดินสไลด์หากกรมโยธาธิการยังไม่ก่อสร้างเขื่อน ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าจะสร้างเมื่อไรและจะเสร็จเมื่อไร