กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน เร่งเข้าไปซ่อมแซมท่อส่งน้ำของอาคารบังคับน้ำบ้านสิวาเดอ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน หลังชำรุดเสียหายให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว
สำหรับอาคารบังคับน้ำบ้านสิวาเดอพร้อมระบบส่งน้ำ และบ่อเก็บน้ำ คสล. เริ่มดำเนินการก่อนสร้างในปี 2562 ประกอบด้วยอาคารบังคับน้ำ พร้อมระบบท่อส่งน้ำ PVC ความยาวรวม 13.42 กิโลเมตร พร้อมบ่อเก็บน้ำแห่งที่ 1 ความจุ 150 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) สามารถใช้ส่งน้ำให้กับราษฎรในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์มาจนถึงปี 2565 แต่เนื่องจากจำนวนครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้น้ำในการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากขึ้น โดยในปี 2566 ราษฎรได้ขอให้ก่อสร้างบ่อพักน้ำแห่งที่ 2 และ 3 ขนาด 150 ลบ.ม เพิ่มเติม อีก 2 แห่ง หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้มีการทดสอบการส่งน้ำ พบว่าสามารถส่งน้ำจากบ่อหลังไปถึงพักน้ำทั้ง 3 บ่อได้เป็นปกติ
ในส่วนของกรณีที่บ่อพักน้ำแห่งที่ 2 ช่วงกม. 11+000 ไม่สามารถส่งน้ำไปถึงได้ สาเหตุเกิดจากในช่วงฤดูฝนของทุกปี พื้นที่อ.สบเมย จะมีฝนตกหนักทำให้ดินที่ถมท่อส่งน้ำบางแห่งเกิดการสไลด์และถูกน้ำฝนกัดเซาะ ประกอบด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีความลาดชันสูง อีกทั้งบางจุดเป็นหินผาทำให้ท่อส่งน้ำมีการเคลื่อนตัวและหลุดแตกหักเป็นช่วงๆ ส่วนในช่วงฤดูแล้งท่อส่งน้ำมักจะได้รับความเสียหายจากไฟป่า ตลอดจนมีการเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ตั้งแต่บริเวณ กม. 7+000 ถึง กม. 10+000 ทำให้ท่อส่งน้ำมีการชำรุดเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ที่ผ่านมาโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอนได้เข้าไปซ่อมแซมท่อส่งน้ำที่ชำรุดเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบให้กับราษฎรในพื้นที่
ทั้งนี้ ในปี 2567 ได้มีการประสานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อเข้าไปซ่อมแซมระบบส่งน้ำที่เสียหาย ตั้งแต่ กม.0+000 ถึง กม.11+000 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567 ทำให้ขณะนี้สามารถส่งน้ำไปยังบ่อพักน้ำแห่งที่ 1 ได้แล้ว ส่วนบ่อพักน้ำแห่งที่ 2 ได้ซ่อมแซมท่อส่งน้ำมาจนถึงตัวบ่อแล้ว แต่เนื่องจากท่อส่งน้ำมีความต่างระดับจากต้นทางน้ำไปจนถึงปลายท่อ ประมาณ 112 เมตร และมีแรงดันสูงในเส้นท่อ จึงทำให้ท่อแตกชำรุด ส่งผลให้ไม่สามารถส่งน้ำไปยังทั้งบ่อที่ 2 และ 3 ได้ในขณะนี้ ประกอบกับฤดูฝนที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกในพื้นที่ เกิดเหตุดินสไลด์และท่อส่งน้ำหลุดในจุดอื่นนอกเหนือจากจุดที่ซ่อมไปแล้วเพิ่มเติม
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ได้วางแผนระยะสั้นเข้าไปซ่อมแซมท่อส่งน้ำที่ชำรุดเสียหายให้สามารถใช้งานได้ ภายในปี 2567 โดยจะเริ่มเข้าไปทำการซ่อมแซมตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 67 ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว ได้เสนอแผนงานเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการแก้ปัญหาภัยแล้งปี 2568 พร้อมกับพิจารณาปรับเปลี่ยนท่อ PVC ไปเป็นการใช้ท่อเหล็กที่มีความคงทนถาวรทั้งระบบ เพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต