เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร เรื่องประกาศจัดตั้ง “สมาคมภูมิภาคศึกษา” ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2567 โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และปลัดกระทรวงมหาดไทยคนล่าสุด เซ็นลงนามรับรอง
ทั้งนี้ สมาคมภูมิภาคศึกษา ถือเป็นการก่อตัวของสมาคมแห่งแรกของเมืองไทย ที่มีการรวบรวมบุคลากรจากหลากหลายแวดวงอาชีพเพื่อระดมพลังสรรค์สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆในเรื่องภูมิภาคศึกษา หรืออาณาบริเวณศึกษา (Regional Studies/Area Studies) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ พร้อมให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลไทย ตลอดจนภาคธุรกิจ ภาคความมั่นคง และภาคประชาสังคมเกี่ยวกับระเบียบภูมิรัฐศาสตร์โลก และสถานการณ์ร้อนรอบโลก ซึ่งมีขอบเขตศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ในภาคต่างๆของไทย เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ รวมถึงภูมิภาคต่างๆรอบโลกด้วย อาทิ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก รัสเซีย-ยูเรเชีย และ อินโด-แปซิฟิก
สมาคมดังกล่าว มีคนดังหลากหลายวงการทั้งนักการทหาร นักธุรกิจ อดีตข้าราชการ อาจารย์ นักสารคดี และบุคคลหลากหลายอาชีพร่วมเป็นสมาชิกและบุคลากรประจำสมาคม อาทิ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัช ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์สาขาวิชาเอเชียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงทหาร นักการทูตและสื่อสารมวลชนในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์และเอเชียศึกษา รวมถึงเป็นนักวิชาการเรื่องเมียนมาที่มีเครือข่ายติดต่อกับกลุ่มอำนาจในเมียนมาได้หลายกลุ่มและมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง The Politics of Federalization in Myanmar ตีพิมพ์โดย Routledge สำนักพิมพ์ชื่อดังในประเทศอังกฤษ
พล.ท.ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องยุทธศาสตร์จีน และกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐประจำวุฒิสภา เข้าดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคม ศ.ดร.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ปรมาจารย์ด้านไทยศึกษาและเอเชียศึกษาประจำมหาวิทยาลัยคอร์แนล และเจ้าของหนังสือเรื่องการเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิกิตติมศักดิ์ของสมาคม ลำดับที่ 1 ศ.ดร.ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์ อดีตคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการวัฒนธรรมเบอร์ต้นๆของเมืองไทย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกิตติมศักดิ์
นอกจากนั้น สมาคมยังมีคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยตามจังหวัดต่างๆเข้าเป็นตัวแทนผลักดันประเด็นวิชาการในระดับภูมิภาคต่อสาธารณะ เช่น รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นแม่ทัพภาคใต้ ดูแลเรื่องวิชาการในจังหวัดชายแดนใต้และโลกมุสลิม และ รศ.ดร.ธนนันท์ บุ่นวรรณา นักประวัติศาสตร์เวียดนามจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดูแลพื้นที่ภาคอีสานและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง น.อ.ธนวัฒน์ สมจิตร ทหารเรือผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงทางทะเล ได้รับเชิญให้เข้าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสมาคม
ล่าสุด น.อ.ชูศักดิ์ เกษตรวิทย์ บิ๊กแนมด้านภูมิภาคศึกษาจากสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย ตอบรับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสมาคมโดยได้รับไฟเขียวจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดให้มาช่วยพัฒนาความรู้ด้านยุทธศาสตร์ร่วมกับสมาคมภูมิภาคศึกษา อ.ดร.มัธธาณะ รอดยิ้ม อดีตผู้สื่อข่าว อาจารย์ด้านวัฒนธรรมศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิจัยของสมาคม และ นายจงเจริญ ขันทอง (มือผลิตสารคดีประวัติศาสตร์และคนสนิทของคุณอดิศักดิ์ ศรีสม นักประกาศข่าวชื่อดังและเจ้าของสารคดีประวัติศาสตร์นอกตำรา) รับหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักผลิตสื่อสารคดีและสันทนาการประจำสมาคม
รศ.ดร.ดุลยภาค นายกสมาคม เผยว่า สมาคมนี้ประกอบด้วยคนดังจากหลายแวดวง ซึ่งจะมีการทยอยเปิดตัวคณะทำงานอีกเรื่อยๆ โดยมีคนดังจากวงการสื่อสารมวลชน ราชการ เอกชน ธุรกิจ ฯลฯ รวมถึงศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ติดต่อเข้าร่วมงานกับสมาคมเป็นระยะ
ถือเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งสมาคมด้านภูมิภาคศึกษาโดยใช้กลยุทธ์แบบ “Cutting Edge” คือสลายพรมแดนในรั้วมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยดึงผู้เชี่ยวชาญหรือผู้สนใจเรื่องประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านและเหตุการณ์รอบโลกที่ทำงานกระจัดกระจายอยู่ตามสถาบันต่างๆให้เข้ามาร่วมระดมความคิดเพื่อผลิตองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อสังคมร่วมกัน
นายกสมาคม เผยต่อว่า สำหรับเบื้องหลังการก่อตัวของสมาคม ได้มีทั้งกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาว และผู้หลักผู้ใหญ่จากหลากหลายแวดวงเข้ามาให้ข้อแนะนำ และให้กำลังใจเพราะอยากเห็นองค์กรใหม่ที่เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศไทยผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้าน Regional Studies หนึ่งในบุคคลสำคัญ ได้แก่ บิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม
อย่างไรก็ตาม เร็วๆนี้จะมีกิจกรรมของสมาคมที่มี Impact ต่อสังคมและอาจได้เห็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เฉียบคมของสมาคมในการช่วยผลักดันให้ประเทศไทยมีสถานะเป็นรัฐที่ทรงอำนาจมากขึ้นหรือมีบทบาทเพิ่มขึ้นบนเวทีโลก เช่น เรื่องการปรับตัวในโครงสร้างภูมิรัฐศาสตร์โลกและการแก้ไขความขัดแย้งในเมียนมา โดยอาจมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลน.ส.แพรทองธาร ชินวัตร และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง