นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า ในเร็วๆนี้จะมีการเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)พิจารณา เกี่ยวกับโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ทั้ง 7โครงการ รวมประมาณ 32 เมกะวัตต์ โดยใช้งบประมาณ 1800 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการเซลล์แสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ 4 โครงการและโครงการเซลล์แสงอาทิตย์บนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) 3 โครงการ
สำหรับโครงการเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 4 โครงการได้แก่ ที่อ่างเก็บน้ำบางปูดำ ในเขตพื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ อ่างเก็บน้ำห้วยเป็ดและอ่างเก็บน้ำห้วยทราย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการเซลล์แสงอาทิตย์บนพื้นดิน 3 โครงการ ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงมุกดาหาร 2 จ.มุกดาหาร ที่ กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง และที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงจอมบึง จ.ราชบุรี จากนั้นก็จะนำเรื่องเข้าเสนอที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือบอร์ดกฟผ. พิจารณาเห็นชอบต่อไปได้ คาดว่าจะภายในปลายเดือนมี.ค.นี้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเรื่องดังกล่าวนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้พิจารณาแล้ว มีแนวคิดว่าให้สนับสนุนผู้ประกอบการ ในประเทศ จึงให้ทาง กฟผ. ได้ศึกษา วิธีการที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ที่ปัจจุบันดำเนินการผลิตแผงโซลาร์ ในประเทศอยู่แล้ว แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน
นายสหรัฐ กล่าวว่า โดยโจทย์ดังกล่าว เป็นเรื่องที่ กฟผ. จะต้องรับนโยบาย มาดำเนินการใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การหาแนวทางสนับสนุนผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศ ซึ่งยอมรับว่ามีต้นทุนสูงกว่าการนำเข้าประมาณ 40% 2. รูปแบบดำเนินการจะต้องไม่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้า ซึ่งแนวทางดังกล่าว จะต้องชัดเจนในไม่ช้า เพื่อให้สามารถเปิดขายเอกสารประกวดราคา(TOR) โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ทั้ง 7โครงการ รวมประมาณ 32 เมกะวัตต์ ได้ ภายในปีนี้ หลังจากที่โครงการล่าช้าไปจาก แผนเดิมที่คาดว่าจะขายTOR ได้ในช่วงไตรมาส 3-4 ในปีที่ผ่านมา
"กฟผ.มองว่าหากมีการสนับสนุนผู้ผลิตแผงโซล่าร์เซลล์ในประเทศ ก็ขอให้มีคุณภาพที่สูงและสามารถประหยัดได้อย่างแท้จริง หากสามารถเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากต่างประเทศเข้าร่วมประมูลจัดซื้อจัดจ้างในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของกฟผ.ได้ จะช่วยให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำลง”