คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในวาระครบรอบการสถาปนา 65 ปี ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวง อว. ขณะที่การจัดนิทรรศการจากโครงการวิจัยชุดราชประศาสนศาสตร์ ทั้ง 3 โครงการวิจัย ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน
รศ.ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทั้งสามโครงการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 - 24 ตุลาคม 2567 คณะรัฐประศาสนศาสตร์ได้รับมอบหมายให้จัดนิทรรศการจากโครงการวิจัยชุดราชประศาสนศาสตร์ ทั้ง 3 โครงการวิจัยประกอบด้วย 1.งานวิจัยราชประศาสนศาสตร์สองสมัย 2.งานวิจัยราชประศาสนศาสตร์สองสมัย (องก์2) 3.งานวิจัยสืบสาน รักษา ต่อยอดราชประศาสนศาสตร์ (องก์3) งานวิจัยทั้งสามโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งร่วมกัน คือ เพื่อต้องการหารูปแบบในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในการเข้าถึงราชประศาสนศาสตร์ ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การเข้าถึงพระมหากรุณาธิคุณเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาข้อมูลการพัฒนาประเทศในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งดำเนินการศึกษา 76 จังหวัด จาก 77 สถาบันการศึกษา ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 - 24 ตุลาคม 2567 ได้นำผลงานนักศึกษามาจัดแสดง ณ ศูนย์ส่งเสริมการวิจัยเพื่อมรดกทางวัฒนธรรม อาคาร 8 ชั้น 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บางเขน กรุงเทพมหานคร
งานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรุณามอบโล่รางวัลให้กับผู้แทนมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมกิจกรรมงานนิทรรศการที่มีการนำเสนอผลงาน โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ส่วนรางวัลรองชนะเลิศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร , มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ , มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และวิทยาลัยเทคนิคตรัง โดยรางวัลชมเชย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนของสถาบันการศึกษาที่ได้รับรางวัลจาก 34 จังหวัด
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากท่านผู้บริหารและผู้มีเกียรติที่เยี่ยมชมนิทรรศการ ผู้บริหารภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เยี่ยมชมนิทรรศการ ผู้สนใจ นักเรียน นักศึกษาและ อ.พูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ ที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ มอบโล่รางวัลให้กับน้องๆ นักศึกษาที่เข้าร่วมงาน ส่วนผู้ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติบัตรจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทุกคนด้วยเช่นกัน
นอกจากนิทรรศการชุดราชประศาสนศาสตร์ ในหลวงของเยาวชนแล้ว โดยตลอด 4 วันที่ผ่านมา ยังมีกิจกรรม NRCT Talk โดยการสัมภาษณ์ รศ.ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หัวหน้าโครงการวิจัย นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติบัตรขอบคุณในฐานะวิทยากรวิจัย จากผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อีกด้วย
“งานในครั้งนี้ได้ผลตอบรับจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ทั้งผู้บริหารจากวช. นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้เข้าร่วมงาน ที่ได้รับรู้ เข้าใจ เข้าถึงศาสตร์แห่งพระมหากษัตริย์ และสามารถต่อยอดแนวทางของพระองค์จากการเข้าร่วมชมนิทรรศการ และการนำเสนอนิทรรศการนี้ ถึงแม้ว่างานจะจบลงทั้ง 4 วันแล้ว นิทรรศการนี้ยังมีต่อไปอีก การเชื่อมโยงกับเครือข่ายการศึกษาต่างๆ ทั้ง 76 แห่งยังคงประสานความร่วมมือต่อไปอีก อีกทั้งมีการวางแนวทางในการเผยแพร่ต่อไป นิทรรศการเป็นส่วนหนึ่ง อาจจะ มี E-Book หนังสือ คลิปวิดีโอ วิธีการอื่นๆในการเผยแพร่ต่อไป ”คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านดร.มนทกานต์ พิมเสน อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส หนึ่งในทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศภาคใต้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมโครงการวิจัยราชประศาสนศาสตร์ มีโอกาสเรียนรู้โครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และมีการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ไปยังพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่10)
ทางคณาจารย์และนักศึกษาจึงร่วมกันหาข้อมูลและวางแผนงาน ตลอดจนการลงพื้นที่พบว่า จ.นราธิวาส มีโครงการในพระราชดําริรวมทั้งสิ้น 403 โครงการ หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่รวบรวมโครงการในพระราชดําริต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชาวนราธิวาส จากนั้นนักศึกษาได้เก็บข้อมูลในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ โดยแบ่งงานออกเป็น 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. งานด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้นำทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ อาทิ กระจูด เตย ปาหนัน และเตยทะเล ที่มีคุณสมบัติของเส้นใยที่พิเศษ มีความเหนียว นำมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ กระเป๋า เสื่อละหมาด รองเท้า ตะกร้า 2. โครงการแกล้งดิน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเป็นกรด ดินเปรี้ยวในพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกพืชผัก โดยขังน้ำไว้ในพื้นที่จนเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุดแล้วระบายน้ำออกและใช้ปูนขาวปรับสภาพฟื้นฟูดินจนดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนทำการเกษตรอินทรีย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในระยะยาว 3. งานด้านประมง ทำการเพาะพันธุ์ปลานิลให้กับเกษตรกร ปัจจุบันมีการแปรรูปเป็นปลาส้ม ปลานิลทอดกรอบ สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่เป็นกอบเป็นกำ
ขณะที่ด้านนายอนวัฒน์ สุทธิวิเศษ นักศึกษาชั้นปี 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี หนึ่งในทีมผู้ที่ได้รับรางวัลชมเชยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี จัดตั้งขึ้นจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญและเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่สนใจในศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านรวมถึงการเกษตรอินทรีย์ โดยมีการจัดตั้งฟาร์มตัวอย่างบ้านยางน้อย พื้นที่ทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ อาทิ การปลูกพืชสมุนไพร ผักปลอดสารพิษ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการผลิตไหมคุณภาพสูงที่ดี จนได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยตรานกยูงทอง การผสมข้าวกล้องปรุงเสริมภูมิต้านทาน เบญจกระยาทิพย์ ซึ่งไม่เพียงสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน แต่ยังเสริมสร้างความรู้และทักษะใหม่ๆ ให้กับคนในชุมชน นอกจากนี้ยังมีศูนย์แสดงนิทรรศการผ้าพื้นเมืองอีสานและศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน และศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพทั่วประเทศ อาทิ ผ้ากาบบัว เครื่องทองเหลือง เครื่องปั้นดินเผา ที่เป็นการสะท้อนความร่วมมือระหว่างชุมชนและพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมอาชีพและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และยังเป็นตัวอย่างของการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
“รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เข้าร่วมทำโครงการวิจัยราชประศาสนศาสตร์ อีกทั้งการได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ทำให้รู้ว่าโครงการพระราชดำริไม่ได้มีเพียง อ.เขื่องใน เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายอำเภอ ซึ่งโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย เป็นพระราชดำริของพระองค์ท่าน ทำให้ชาวบ้านได้รู้จักการปลูกป่า เลี้ยงไหมเพื่อทอผ้าไทย สร้างรายได้ให้กับตัวเอง โดยที่ไม่ต้องให้วัยหนุ่มสาวออกไปทำงานตัวเมือง ทว่าทำงานในบ้านเกิดของตัวเอง นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยของเรามีโครงการน้องหล่าคำแพง แข่งขันร้องเพลงลูกทุ่ง หมอลำ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และรัชกาลที่ 10 ด้วย”หนึ่งในทีมผู้ได้รับรางวัลชมเชยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวเพิ่มเติม
ท้ายที่สุด รศ.ดร. วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องขอขอบคุณยิ่งที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงอว. ได้ให้โอกาสในการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จนสามารถนำผลงานมาจัดนิทรรศการในครั้งนี้ได้ ขอขอบคุณอย่างมากในทุกสถาบันการศึกษา นิสิตนักศึกษาทุกคน ครู บุคลากรและอาจารย์ จังหวัด ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่จาก 76 จังหวัด เข้าร่วมอย่างตั้งใจ เต็มที่กับทุกงาน และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยทั้งสาม นอกจากนี้ขอขอบคุณผู้บริหารและนโยบายการวิจัยของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการงานวิจัยแก่บุคลากรตลอดมา