ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สังคม / บุคคล ย้อนกลับ
มจธ.ฝึกอบรม ฝึกงานคนพิการก่อนส่งต่อสถานประกอบการ
02 พ.ย. 2567

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ปิดโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ รุ่นที่ 11 เสริมศักยภาพและทักษะคนพิการ 42 คนพร้อมส่งต่อสู่สถานประกอบการและการประกอบอาชีพ

ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้จัดพิธีปิดโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานสำหรับคนพิการ รุ่นที่ 11 เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการและการประกอบอาชีพ ณ ห้องพุทธรักษา ชั้น 3 อาคารสัมมนา มจธ. โดยมีนายสุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการ กล่าวต้อนรับและรายงานความก้าวหน้าของโครงการ และได้กล่าวแสดงความยินดีพร้อมทั้งมอบวุฒิบัตรให้กับคนพิการที่เข้าร่วมโครงการ

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการ ทั้งด้านทักษะการทำงาน การปรับตัว และการอยู่ร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงเพื่อการทำงานในสถานประกอบการ แต่ยังเปิดโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานดูแลคนพิการ และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เช่น สำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ 2  ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการพระประแดง และสำนักงานเขตทุ่งครุ รวมถึงบุคลากรภายใน มจธ. ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการนี้

“ทั้งนี้ การอบรมเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าทำงานในสถานประกอบการ รุ่นที่ 11 มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านการทำงานและการประกอบอาชีพ และเสริมสร้างความมั่นใจในการดำรงชีวิตและสร้างคุณค่าให้กับคนพิการ ซึ่งโครงการฯ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะเปิดโอกาสให้คนพิการได้แสดงศักยภาพ ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่กล่าวถึงเสมอว่าเราต้องทำให้ Disability หรือความพิการ เปลี่ยนเป็น Productivity ก็จะเป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศได้”

นางสาวทิพยรัตน์ จันทรสุวรรณ หรือ แตงกวา กล่าวว่า ตนเองเคยทำงานเป็นผู้ช่วยธุรการในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงได้ลาออกจากงานและกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด พอได้ทราบว่าได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ รู้สึกดีใจมาก ส่วนที่เลือกเรียนหลักสูตรการผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ดิจิทัล เพราะเป็นหลักสูตรที่สนใจอยากเข้ามาเรียนอยู่แล้วตั้งแต่ต้น แม้ไม่เคยเรียนหรือมีความรู้เรื่องการออกแบบมาก่อน แต่พอได้เข้ามาอบรมพบว่า ไม่ยากอย่างที่คิด หากไม่เข้าใจก็ได้เพื่อนๆ ค่อยช่วยเหลือ สามารถเรียนรู้การออกแบบและผลิตเป็นชิ้นงานได้จริง เหมือนเป็นหลักสูตรเร่งรัด ผลงานที่ได้ทำขึ้น คือ ออกแบบรูปเป็ดบนร่มให้กับแบรนด์ “ทำ” รู้สึกภูมิใจ ซึ่งหลังจากที่เข้าร่วมอบรม ทำให้ได้ทักษะในการออกแบบมากขึ้น ต่างจากก่อนหน้าที่ไม่รู้อะไรเลย ตอนนี้ได้พื้นฐานเกี่ยวกับการออกแบบสื่อฯ ค่อนข้างครบที่เหลือก็อยู่ที่เราจะต้องหมั่นฝึกฝนพัฒนาฝีมือให้เก่งขึ้น เพื่อให้มีทักษะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวเองก็จะคอยฝึกฝนเพื่อนำไปสร้างอาชีพฟรีแลนด์ต่อไป

โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานสำหรับคนพิการ ปีนี้ มีคนพิการเข้าร่วมอบรม จำนวน 42 คน แบ่งเป็นพิการด้านความเคลื่อนไหว 32 คน  ด้านสติปัญญา 7 คน  ด้านการได้ยิน 2 คน และด้านการมองเห็น 1 คน ผ่านการอบรมใน 3 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน 18  คน หลักสูตรการผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ดิจิทัล 12 คน และหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น 12 คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานประกอบการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 รวม 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท ดานิลี่ จำกัด, บริษัท ศรีไทย มิยากาวา จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท สโตเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน), และ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  โดยที่ผ่านมาทั้ง 11 รุ่น มีคนพิการที่ผ่านโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 411 คน มีสถานประกอบการทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรับคนพิการที่ผ่านโครงการฯ เข้าทำงานแล้วมากกว่าร้อยละ 50 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...