เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการนำร่อง เรือบรรทุกสินค้าเข้าเทียบท่า ได้อย่างไร้ข้อกำจัด และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการให้บริการ เพื่อนำไปสู่ท่าเรือชั้นนำระดับโลก
วันนี้ เรือเอกปรัชญา เอกโพธิ์ ผู้อำนวยการกองบริการ ท่าเรือแหลมฉบัง เผยว่า ท่าเรือแหลมฉบังได้ว่าจ้างบริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาสำรวจพื้นท้องทะเลบริเวณร่องน้ำทางเดินเรือ และแอ่งจอดเรือของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อตรวจสอบความลึกพื้นท้องทะเล ชั้นตะกอนดินด้านธรณีวิทยา และบริเวณรอบโครงสร้างใต้น้ำ โดยการใช้เทคโนโลยี หุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในระบบปฏิบัติการของกิจกรรมทางน้ำ เช่น การสำรวจ การตรวจสอบ มาช่วยเช่น เรือไร้คนขับ และหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกับซอฟแวร์การประมวลผล เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนบำรุงรักษาร่องน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
โดยบริษัทดังกล่าวได้รับความเชื่อถือ มีมาตรฐาน และเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท.สผ. มีความรู้ความสามารถ ในการสำรวจตรวจสอบแท่นขุดเจาะน้ำมันใต้ทะเล ซึ่งมีประสบการณ์และมีซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาจากฝีมือคนไทย การนำเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเหลือดังกล่าว จะสามารถทำให้ปัญหาร่องน้ำตื้นเขินของท่าเรือแหลมฉบัง คลี่คลายไปในแนวทางที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีหน่วยงานดังกล่าว แต่อุปกรณ์ที่ทันสมัยบางตัวยังไม่มี จึงต้องประสานกับบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการให้ และที่สำคัญเป็นการทดแทนมนุษย์ ที่จะมีความเสี่ยงหรือเสียชีวิตจากการสำรวจใต้น้ำได้
เรือเอกปรัชญา เผยอีกว่า การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก และสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์สู่การค้าโลกแบบไร้รอยต่อสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการใช้ท่าเทียบเรือ ร่องน้ำถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการขนส่งสินค้าทางทะเล ในการนำเรือบรรทุกสินค้าเข้าเทียบท่า
ซึ่งหากจะเปรียบเทียบการขนส่งบนบกคือ ซึ่งจะต้องมีการซ่อมบำรุงถนน เพื่อให้พร้อมใช้งานในการเดินทาง ร่องน้ำใต้ทะเลก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะต้องให้เรือได้สัญจรไปมาเพื่อเข้าเทียบท่า ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ จึงต้องมีการบำรุงรักษาร่องน้ำให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานตลอดเวลา พร้อมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการบรรทุกสินค้าและวางแผนการนำเรือเข้าเทียบท่าและออกจากท่าได้อย่างปลอดภัย
“แต่การดูแลรักษาค่อยข้างลำบากเพราะอยู่ใต้ทะเล ท่าเรือแหลมฉบังจึงได้นำเทคโนโลยี่สมัยใหม่ในการสำรวจร่องน้ำใต้ท้องทะเล เพื่อสำรวจสภาพ และความลึกของร่องน้ำและแอ่งจอดเรือ ด้วยหุ่นยนต์ใต้น้ำที่จะมาดำสำรวจใต้น้ำแทนมนุษย์ในการวัดความลึกของร่องน้ำ และประมวลตะกอนดิน เพื่อต้องการทราบถึงปัญหาและแนวทางที่จะต้องแก้ไข”
นอกจากนั้นยังมีโดรนใต้น้ำ ที่จะเข้ามาสำรวจ เพื่อประมวลผลทั้งหมดในการสำรวจร่องน้ำ แล้วนำไปให้นักธรณีวิทยาประมวลผลและวิเคราะห์ชั้นดินใต้ทะเล เพื่อนำไปสู่การขุดลอก และบำรุงรักษาร่องน้ำ ซึ่งการนำเทคโนโลยี่สมัยใหม่เข้ามาดำเนินการนั้นจะให้เกิดความแม่นยำและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ถือเป็นครั้งแรกของท่าเรือแหลมฉบังที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้งาน
ด้านนายภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์, Technical Co-Founder บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า การนำเทคโนโลยีที่เข้ามาดำเนินการสำรวจพื้นน้ำที่ท่าเรือแหลมฉบังในครั้งนี้ เป็นเรืออัตโนมัติ ซึ่งสามารถวิ่งได้อย่างอัตโนมัติโดยสั่งงานได้จากระยะไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยทำหน้าที่ผลิตแผนที่สามมิติใต้น้ำ สำรวจชั้นตะกอนดิน และสามารถไปดูพื้นผิวของข้างๆท่าเรือ เพื่อระบุตำแหน่งในการดูผลกระทบและปัญหาบริเวณไหน เพื่อซ่อมบำรุงได้อย่างถูกต้อง
สำหรับปัญหาที่พบบ้างในขณะนี้ คือการสัญจรของเรือสินค้าบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะต้องประสานกับท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เนื่องจากมีเรือสินค้าสัญจรเกือบตลอดระยะเวลา จึงต้องมีสื่อสารตลอดระยะเวลาพื้นที่บริเวณไหนสำรวจได้และบริเวณไหนยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจได้