“สาธุ” นักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คว้ารางวัลชมเชยจากเวที "Spark the Local 2024 by PTT"
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรการสื่อสารการตลาดดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) “ทีมสาธุ” ได้รับรางวัลชมเชย พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท จากการแข่งขัน “Spark the Local 2024 by PTT : ปั้นให้ปัง จุดพลังให้สินค้าชุมชน” ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นทีมจากมหาวิทยาลัยเอกชนเดียวที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้
โดยโครงการแข่งขัน “Spark the Local 2024 by PTT : ปั้นให้ปัง จุดพลังให้สินค้าชุมชน” มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้ใช้ศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่ม ขยายฐานลูกค้าและผู้บริโภคกลุ่มใหม่ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ ภายใต้แนวคิด "ปรับปรุง แปลงโฉม ปั้นแบรนด์" โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องมีอายุระหว่าง 18 - 40 ปี และแต่ละทีมมีสมาชิกไม่เกิน 5 คน โดยส่งผลงานได้เพียงทีมละ 1 ผลงานเท่านั้น โดยผู้เข้าแข่งขันต้องจัดทำแผนพัฒนาสินค้าและการตลาด ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ถูกใจผู้บริโภค การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย และการสร้างแบรนด์ให้โดดเด่นและสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน
ผลปรากฏว่า “ทีมสาธุ” ซึ่งประกอบด้วย นางสาวจริยพร สมหน้อย, นายปิยังกูร ตั๋นตุ้ย, นางสาวศุภลักษณ์ ท้าวกลาง, นางสาวปาริฉัตร ไวยกิจจา และ นางสาวพิชญสินี จินดาวงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรการสื่อสารการตลาดดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ "ชาหน่อกะลาปรุงสำเร็จ" แบรนด์ Koh Chá ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนชาวเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แบบไม่เหมือนใคร จนสามารถผ่านการคัดเลือกรอบแรก จากทั้งหมด 300 โครงการที่ส่งเข้าประกวด และเข้าสู่รอบ Audition ซึ่งต้องนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ ณ ปตท. สำนักงานใหญ่ ก่อนจะเข้าสู่รอบ Final ซึ่งจัดขึ้นที่งานร้านเด็ดแฟร์ ในระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2567 โดยแต่ละทีมจะได้รับการจัดสรรพื้นที่บูธสำหรับจำหน่ายและจัดแสดงสินค้า จำนวน 1 บูธ
สำหรับผลงานของทั้ง 5 คนในทีมสาธุ มุ่งเน้นการเล่าเรื่องราวผ่านความเป็นภูมิปัญญา เพื่อยกระดับหน่อกะลา พืชสมุนไพรที่มีรสชาติหอม ทานง่าย และถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย โดยนอกจากความสามารถที่นักศึกษาได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวตลอดเวลาในห้อง นักศึกษายังได้เรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และนำประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากห้องเรียนในการแข่งขันในครั้งนี้มาผสมผสาน กระทั่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และคว้ารางวัลชมเชย พร้อมกับรับเงินทุนการศึกษาจำนวน 10,000 บาท
นางสาวจริยพร สมหน้อย หรือ น้องเพลง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรการสื่อสารการตลาดดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทีมสาธุ กล่าวว่า โครงการประกวดนี้เป็นช่วงเวลาที่อบอุ่นและประทับใจในการเดินเคียงข้างชุมชน และเป็นแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เราสร้างสรรค์และมอบสิ่งดี ๆ กลับคืนอย่างแท้จริง โดยการแข่งขันในวันนี้พวกเราภูมิใจที่ได้เห็นความตั้งใจนั้นออกมาเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ กับความตั้งใจที่ทุกคนช่วยกันทำขึ้น
ด้าน นายปิยังกูร ตั๋นตุ้ย หรือ หมิง กล่าวเสริมว่า รู้สึกพอใจกับผลงานนี้เป็นอย่างมาก และดีใจที่ได้ร่วมกิจกรรมและได้มีโอกาสในการร่วมพัฒนาสินค้าชุมชนกับเพื่อนๆ ในครั้งนี้ เพราะไม่เพียงสิ่งที่พวกเราทำเกิดประโยชน์และผลต่อชุมชน พวกเรายังได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยที่จะได้สัมผัสมาก่อน
ขณะที่ นางสาวศุภลักษณ์ ท้าวกลาง หรือ น้องเบลล์ เปิดใจว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่สามารถพัฒนาสินค้าของชุมชนมาถึงจุดนี้ได้ ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยความตั้งใจและความร่วมมือจากทุกคนในชุมชน ซึ่งทำให้เรามีแรงผลักดันที่จะสร้างสิ่งดี ๆ ต่อไป และเห็นคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่เราทำร่วมกัน
ส่วน นางสาวพิชญสินี จินดาวงค์ หรือ น้องต๋อมแต๋ม และ นางสาวปาริฉัตร ไวยกิจจา หรือ น้องป๋องแป้ง ระบุว่า การได้เข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ทุกความท้าทายไม่เพียงเปิดโอกาสให้เราแสดงศักยภาพ แต่ยังสอนให้เราเติบโตและพัฒนาทักษะทั้งในด้านความคิดและจิตใจ นอกจากนี้ในทุกช่วงเวลาคือ “บทเรียน” อันล้ำค่าที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นและก้าวไปอีกขั้นของความสำเร็จ ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่น
“การได้เห็นสินค้าของชุมชนพัฒนามาถึงจุดนี้ เรารู้สึกภูมิใจอย่างมาก ทุกความตั้งใจและความร่วมมือของทุกคนคือ หัวใจสำคัญของความสำเร็จครั้งนี้ และเป็นแรงบันดาลใจให้เราเดินหน้าสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อชุมชนต่อไป หนูขอขอบคุณโครงโครงการดีๆ จาก ปตท. และขอบคุณทุกแรงเชียร์จากคณาจารย์ น้องๆ ปี 1 และเพื่อนๆ ทุกคน สุดท้ายถ้าถามว่าอยากจะฝากอะไร ก็อยากจะฝากว่า “ลงมือทำจึงเกิดการเรียนรู้” และ “เรียนรู้จากการลงมือทำ” ในทุกช่วงเวลาคือ “บทเรียน” อันล้ำค่าที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นและก้าวไปอีกขั้นของความสำเร็จ”