ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่บ้านทรัพย์อนันต์ ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก จากสถานการณ์ พืชผลทางการเกษตร ราคาไม่ค่อยดี ทำให้เกษตรกร ต้องหาอาชีพเสริม เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว ชาวไทยเชื้อสายลีซู เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส นำวิถีชีวิตชนเผ่าลีซู มาเสริมอาชีพ ทำย่าม ทำกระเป๋าชนเผ่าลีซู ขาย สุดปัง คนสั่งซื้อ ผลิตแทบไม่ทัน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวปีละ 1 แสนบาท
นางยาใจ แซ่ลี้ อายุ 46 ปี อยู่บ้านทรัพย์อนันต์(บ้าน18) หมู่ที่ 13 ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ช่วงนี้ตนเองทำอาชีพเสริมทอย่าม หรือกระเป๋าชนเผ่าลีซู ขายเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับตนเอง ข่วงนี้ขายดีมาก เพราะเหลือเวลาอีก 2 เดือน ก็จะถึงปีใหม่ลีซู จึงมีลูกค้าสั่งจอง เป็นจำนวนมาก ทอแทบไม่ทัน เหตุที่มาทอผ้าชนเผ่า และ นำมาแปลงเป็นกระเป๋า หรือย่าม เนื่องจากตัวเองทำไร่ข้าวโพดน้ำพริก ช่วงนี้ราคาไม่ค่อยดี จึงเอาวิกฤตเป็นโอกาส เนื่องจากตนเองตั้งแต่เล็กๆ เห็นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ทอผ้าชนเผ่า จึงเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก จนมาถึงทุกวันนี้ ปกติก็พอใช้เอง แต่เพื่อนๆ สนใจสั่งซื้อสั่งท่อ ทำให้ตัวเองเห็นโอกาสนี้ จึงรีบผลิต ให้ทันช่วงปีใหม่ลีซู หรือช่วงตรุษจีนที่จะถึงนี้ ขายกระเป๋าได้ในราคา เริ่มตั้งแต่ 300-400 บาท และที่มีเครื่องประดับติดกระเป๋าราคาประมาณ 1,300 บาท สร้างรายได้ให้กับครอบครัวปีละ 1 แสนบาท
สำหรับกระเป๋าย่าม ลีซู ลายดั้งเดิม(ขาว-แดง)ผลิตจากการทำด้วยมือ ทอผ้ากี่มือ จากวัฒนธรรมชนเผ่าลีซู จะเป็นกระเป๋าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีความเชื่อว่าเป็นชนเผ่าที่มีการแต่งกายสีสันสดใส ความกล้าในการตัดสินใจ และความเป็นอิสระชนสะท้อนออกมาให้เห็น จากการใช้สีตัดกันอย่างรุนแรง ในการเครื่องแต่งกาย คนอื่นเรียกว่าลีซอ แต่เรียกตนเองว่า “ลีซู” (คำว่า “ลี” มาจาก “อิ๊หลี่” แปลว่า จารีต ประเพณีหรือวัฒนธรรม “ซู” แปลว่า “คน”) มีความหมายว่า กลุ่มชนที่มีขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง อาจกล่าวได้ว่าชาวลีซูเป็นกลุ่มชนที่รักอิสระ
เกษมสันต์ ไชยเดช จ.ตาก รายงาน