ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ดีอี เตือน ข่าวปลอมรัฐบาลช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ขออย่าเชื่อ-แชร์
24 พ.ย. 2567

ดีอี เตือน “รัฐบาลช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท เริ่มจ่าย 24 พ.ย. 67” ขออย่าเชื่อ-แชร์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิดในสังคม
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “รัฐบาลช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท เริ่มจ่าย 24 พ.ย. 67” รองลงมาคือเรื่อง “นอนหันศีรษะและลำตัวไปตามแนวสนามแม่เหล็กโลกช่วยให้สุขภาพดี” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 15-21 พฤศจิกายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 842,896  ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 636 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 596 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 17 ข้อความ Website จำนวน 18 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 5 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 231 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 102 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 100 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 50 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 19 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 31 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 31 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับโครงการและนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงการช่วยเหลือเกษตรกร รวมถึงเรื่องภัยพิบัติ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด วิตกกังวลได้ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง รัฐบาลช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท เริ่มจ่าย 24 พ.ย. 67
อันดับที่ 2 : เรื่อง นอนหันศีรษะและลำตัวไปตามแนวสนามแม่เหล็กโลกช่วยให้สุขภาพดี
อันดับที่ 3 : เรื่อง พายุไต้ฝุ่นอุซางิ ทวีความรุนแรงเป็นซูปเปอร์ไต้ฝุ่นแล้ว
อันดับที่ 4 : เรื่อง เตือนให้สังเกตการเกิดสึนามิบริเวณชายทะเลอ่าวไทย รอบนี้จะมีคลื่นสูง 10 กว่าเมตร
อันดับที่ 5 : เรื่อง AOT เปิดเว็บไซต์จำหน่ายกระเป๋าเดินทาง
อันดับที่ 6 : เรื่อง เพจเจ้าหน้าที่ขนส่งแห่งประเทศไทย รับทำใบขับขี่ ต่อใบขับขี่ แบบออนไลน์ บัตรออกจากกรมขนส่งโดยตรง ทำได้ทั่วประเทศ
อันดับที่ 7 : เรื่อง G-Herb ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง และเสริมภูมิคุ้มกัน
อันดับที่ 8 : เรื่อง รัฐบาลประกาศให้งดทำนาปรัง เนื่องจากน้ำมีน้อย
อันดับที่ 9 : เรื่อง เมฆเตือนภัย เครื่องบินเล็ก รถทัวร์ ให้ระวังอุบัติเหตุภายในเดือน พ.ย. 67
อันดับที่ 10 : เรื่อง ครึ่งเดือนแรกของเดือน พ.ย. มีพายุไต้ฝุ่นก่อตัวไล่เลี่ยกัน 4 ลูก ทุกลูกข้ามจากพายุดีเปรสชันเป็นไต้ฝุ่น
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐ และภัยพิบัติ มากถึง 6 อันดับ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวล ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “รัฐบาลช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท เริ่มจ่าย 24 พ.ย. 67” กระทรวงดีอีได้ประสานงานสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบและชี้แจง พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/2568 หรือ โครงการไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ซึ่งได้มีชาวนาสอบถามและเร่งรัดให้รัฐบาลอนุมัติโครงการไร่ละ 1,000 บาท ขณะนี้ยังไม่สามารถดําเนินการได้
เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 กําหนดเป็นหลักการว่า ในการจัดทํามาตรการ/โครงการ เพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และภาคเกษตรต่อจากนี้ไป ให้ทุกหน่วยงานหลีกเลี่ยงการดําเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตรโดยตรงแก่เกษตรกร และให้พิจารณาดําเนินมาตรการ/โครงการในลักษณะที่เป็นการสนับสนุน การเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity) ของภาคการเกษตร การพัฒนาภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน หรือเป็นการยกระดับกระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ของตนเองได้อย่างเพียงพอในระยะยาว และดํารงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความยั่งยืน
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพิจารณาแนวทางการดําเนินงานตามระเบียบให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรสูงสุด และขอยืนยันว่า จะเร่งรัดการดําเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน ระเบียบ และกฎหมายต่อไป ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลเหล่านี้ต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ แล สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.moac.go.th หรือโทร 0-2281-5884
ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “นอนหันศีรษะและลำตัวไปตามแนวสนามแม่เหล็กโลกช่วยให้สุขภาพดี” กระทรวงดีอีได้ประสานงานร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตรวจพบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยแม้ว่าสนามแม่เหล็กโลกจะมีผลต่อการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์บางชนิดและมีบทบาทสำคัญในการป้องกันรังสีจากอวกาศ แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า สนามแม่เหล็กโลกมีผลต่อสุขภาพของมนุษย์โดยตรง หรือส่งผลต่อการดูดซับพลังงานของร่างกายแต่อย่างใด ขณะที่ผลต่อการนอนหลับที่ดีมีหลากหลาย เช่น ความสบายของเตียง หมอน แสง สี เสียง อุณหภูมิห้อง ความเครียด และสุขภาพโดยรวมมากกว่าทิศทางการนอน
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...