วันนี้(25 พ.ย.2567) นายดุรงค์ฤทธิ์ ศิริวัฒนพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในงาน "วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" หรือวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพร้อมใจกันแสดงความกตัญญูกตเวทิตาธรรม และถวายราชสดุดี ผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย มีข้าราชการ คณะลูกเสือจังหวัดสระบุรี ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ลูกเสือชาวบ้าน และลูกเสือเนตรนารี จากโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมพิธี ณ สนามโรงเรียนอนุบาลสระบุรี
สำหรับวันสำคัญวันนี้เป็นวันที่สำคัญของคณะลูกเสือแห่งชาติ และบรรดาลูกเสือ เนตรนารี บุคลากรทางการลูกเสือ ตลอดจนพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า คือเป็น “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย บรรดาลูกเสือทุกหน่วยเหล่าต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพร้อมใจกันแสดงความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ด้วยการมาร่วมวางพวงมาลา และถวายราชสดุดี
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1มกราคม พุทธศักราช 2423 ทรงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบสันติวงศ์ เป็นรัชกาลที่ 6 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2453 ขณะพระชนมายุ 30 พรรษา ทรงปกครองสยามประเทศได้ 16 ปี แม้จะทรงครองราชย์ด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี แต่ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจไว้หลายประการ ดังนี้ ด้านการปกครอง ทรงตั้งกระทรวงทหารเรือ กระทรวงมุรธาธร กรมศิลปากร ปรับปรุงกระทรวงโยธาธิการ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงคมนาคม ทรงจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยโปรดให้รวมมณฑลหลาย ๆ มณฑลเข้าด้วยกันเป็นภาคแต่ละภาค ทรงแต่งตั้ง"อุปราช"ปกครอง ทรงสร้าง"ดุสิตธานี" เป็นนครจำลองเพื่อทดลองรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ด้านการศึกษา ทรงริเริ่มสร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัดประจำพระองค์ ได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งปัจจุบัน คือ วชิราวุธวิทยาลัย ทั้งยังทรงสนับสนุนกิจการของโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2440 (ปัจจุบัน คือ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) และในปี พ.ศ. 2459ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะ "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของลอร์ด เบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) ซึ่งตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในการรบกับพวกบัวร์ (Boar) จนประสบผลสำเร็จ และตั้งกองลูกเสือแห่งแรกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยก็ได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร นับเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ต่อจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่มีการสถาปนากองลูกเสือขึ้น ต่อจากนั้นอีก 2 เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ด้วยมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง จากนั้น ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรก ขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือ ตามโรงเรียนต่างๆ รวมถึงกำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น ทั้งพระราชทานคำขวัญแก่ลูกเสือว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” เพื่อฝึกอบรมเด็กและเยาวชนของชาติ ไว้เป็นกำลังในการป้องกันชาติบ้านเมือง และเป็นพลเมืองดี เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงทำให้กิจการลูกเสือมีความเจริญรุ่งเรือง และพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปตามกาลสมัยจวบจนปัจจุบัน
สมพงษ์ ปานรุ่ง รายงาน สระบุรี