นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ท่านมุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาด้านการอุดมศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ให้เกิดการพัฒนาลงสู่ระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไทย (Thailand National Quality Infrastructur :NQI) ให้ส่งผลต่อการ พัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงตอบสนองต่อความท้าทายแห่งอนาคต และให้เร่งนำความรู้ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ไปใช้เพื่อการพัฒนาทุกภาคส่วน เชื่อมต่อกับส่วนกลาง ลงสู่ระดับพื้นที่ และส่งเสริมให้มีการสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างระบบนิเวศวิทยาที่ดีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
นพ.รุ่งเรือง อธิบดีกรมวิทย์ฯบริการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ดำเนินการตามนโยบายท่านรัฐมนตรีศุภมาส เพื่อพัฒนา NQI ด้านห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมพัฒนาความสามารถห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ให้เข้าสู่การรับรองคุณภาพและมาตรฐานห้องปฏิบัติการ เช่น ISO 17025, DSS Recognized lab โดยล่าสุด ตนและคณะผู้บริหารกรมวิทย์ฯ บริการ ได้เดินทางลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อร่วมดำเนินการเปิดให้บริการ “ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย โดยมีผู้บริหารทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิชิต กำมันตะคุณ อธิการบดี มรภ.ร้อยเอ็ด รศ.ดร.ฉลอง สุขทอง อธิการบดี มรภ.สุรินทร์ และผู้บริหารมทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ในการสร้างความร่วมมือระหว่างกรมวิทย์ฯ บริการ กับ มรภ.ร้อยเอ็ด มรภ.สุรินทร์ และ มทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ มีวัตถุประสงค์สำคัญในพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของห้องปฏิบัติการในพื้นที่ ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจชุมชน และการนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน โดยร่วมกันจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. กับทั้งสามมหาวิทยาลัย โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร (นครปฐม) มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (นครราชสีมา) ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และระบบห้องปฏิบัติการ ไทย โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายและทรัพยากรที่เข้มแข็งเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในระดับพื้นที่ โดยกรมวิทย์ฯบริการ มีหน้าที่ช่วยพัฒนาและให้การรับรองมาตรฐานให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์บริการ อว. ในพื้นที่ หลังจากนั้นจะถ่ายโอนลูกค้าที่ต้องส่งตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทย์ฯบริการในส่วนกลาง ไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งโครงการดังกล่าว จะมีการจัดตัังศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. ในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนซึ่งต้องส่งตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ในส่วนกลางได้รับบริการที่รวดเร็ว มีคุณภาพ มาตรฐาน เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบคุณภาพระดับชาติ นอกจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. ยังเป็นตัวแทนด้านวิทยาศาสตร์ของกระทรวง อว. ปฏิบัติภารกิจในระดับพื้นที่เพื่อนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ต่อไป