เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าวนายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา และรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวหลังจากนำทีมผู้บริหารสำนักงาน ก.ค.ศ. เข้ารับรางวัลในโครงการ Thailand HR Innovation Award 2024 ในงานวันนักบริหารงานบุคคล (Thailand HR Day 2024) ว่า จากนโยบาย “ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา” และ “ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น“ (โยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง) ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) สำนักงาน ก.ค.ศ. ในฐานะองค์กรกลางในการดำเนินงานด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แปลงนโยบายสู่การปฏิบัติโดยการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการบริหารงานบุคคล ในยุคดิจิทัล ทั้งในส่วนของระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal: DPA) และระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matching System: TMS) ถือเป็นการพลิกโฉมการบริหารงานบุคคลให้มี ความทันสมัย ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายประวิต กล่าวต่อว่า นับเป็นความภาคภูมิใจที่สำนักงาน ก.ค.ศ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ได้เริ่มต้นนำเอานวัตกรรมด้านการบริหารงานบุคคลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ และยังเป็นปีแรกที่ได้ส่งนวัตกรรม ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกหน่วยงานในศธ. เข้าร่วมการประกวดในโครงการ Thailand HR Innovation Award 2024 และได้รับรางวัลในระดับ SILVER AWARD จากโครงการระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matching System: TMS) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคุณครู ที่ต้องการขอย้ายสับเปลี่ยนเพื่อกลับไปสอนในภูมิลำเนาของตัวเองผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษาเพื่อยื่นคำร้องข้อย้ายเป็นเอกสาร และได้รับรางวัลในระดับ GOLD AWARD จากโครงการระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal: DPA) เป็นระบบที่ช่วยลดความยุ่งยาก ซับซ้อนในการประเมินวิทยฐานะ ประหยัดเวลาในการดำเนินการ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดภาระค่าใช้จ่ายทางงบประมาณให้กับประเทศ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพลิกโฉมระบบการประเมินวิทยฐานะ ที่มุ่งเน้นไปที่การสอนและการพัฒนาสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพครูด้วยระบบดิจิทัล