เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงแรงงานกิจกรรมการฟื้นฟูสถานประกอบกิจการหลังประสบอุทกภัย โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม โดยผู้บริหารโรงพยาบาลลานนา 3 นำเสนอเหตุการณ์ความเสียหายจากอุทกภัยและการฟื้นฟู ชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ร่วมกับผู้แทนสถานประกอบกิจการจังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอแผนการจัดการและการป้องกันเมื่อเกิดอุทกภัย
ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน ได้รับทราบความเสียหายของสถานประกอบกิจการในจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากเหตุอุทกภัยที่ผ่านมา ซึ่งทุกหน่วยงานในกระทรวงแรงงาน ทุกกรมฯ ได้ ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อวางแผนในการพื้นฟู ให้ช่วยเหลือ เยียวยา เพื่อให้สถานประกอบกิจการได้กลับมาดำเนินกิจการได้อย่างปกติโดยเร็วที่สุดซึ่งมีมาตรการการช่วยเหลือโดยสปส. ปรับลดเงินสมทบประกันสังคม เป็นเวลา 6 เดือน และขยายเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ และผู้ประกันตน สามารถขอรับประโยชน์ทดแทนจากการขาดรายได้ กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย รวมทั้งกระทรวงแรงงานยินดีรับฟังปัญหาต่างๆ เพื่อวางแผนจัดทำมาตรการช่วยเหลือต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าวโดยนายพิพัฒน์ และคณะ รับฟังรายงานแผนการรับมือ อุทกภัย และการฟื้นฟู ด้วยโครงการ Safety culture together ของ กสร. และ การนำเสนอโมเดลการรับมืออุทกภัย ของโรงแรมแชง – กรีลา เชียงใหม่ รวมทั้ง บริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด, ชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีมาตรการในการดูแลลูกจ้าง ได้เป็นอย่างดี และยังได้มอบหมายให้ กสร. และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ หรือ สสปท.ไปศึกษาและขยายผล วิธีการป้องกัน การเผชิญเหตุ อุทกภัยเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ยังได้เยี่ยม อธิบายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนที่พักรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลลานนา 3 อีกด้วย
จากนั้น นายพิพัฒน์ และคณะกระทรวงแรงงาน ตรวจติดตามการส่งเสริม ประกอบอาชีพอิสระของแรงงานนอกระบบ กลุ่มตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากผ้า บ้านกิ่วแล พี่น้องแรงงานนอกระบบ ณ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดำเนินการส่งเสริมความปลอดภัยให้แก่เครือข่ายแรงงานนอกระบบให้นำไปปรับใช้ในการทำงานเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยบูรณาการกับหน่วยงานสังกัดนั้นได้ส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ในการทำงานให้ได้มาตรฐาน พัฒนาทักษะฝีมือให้ทันสมัย แนะนำแหล่งลงทุนในการทำงาน เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้ธุรกิจ และการสร้างหลักประกันสังคมที่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยให้กับแรงงานนอกระบบทุกคนได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า นอกจากการให้กู้ยืมเงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพ สามารถกู้ยืมได้ โดยแบบกลุ่มกู้ได้ในวงเงิน 300,000 บาท ในรูปแบบบุคคลกู้ได้ 50,000 บาท หลังจากได้ผลิตภัณฑ์ เราจะช่วยส่งเสริมการขายในช่องทางต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694” นายสมชาย กล่าว