วันที่ 11 ธันวาคม 2567 ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า นอกจากปัญหาวิกฤตพะยูนที่ได้เร่งหาแนวทางการแก้ไขแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เห็นว่ามีความสำคัญไม่แพ้ประเด็นปัญหาอื่น ๆ คือ ปัญหาขยะอาหาร ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากขยะอาหารส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง จนถึงการเก็บรักษา และการแปรรูป อีกส่วนหนึ่งเกิดจากเศษอาหารจากการบริโภค อาหารที่หมดอายุ และอาหารที่ขายไม่หมด ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรมากเกินความจำเป็น และเพิ่มปริมาณขยะที่ต้องกำจัด ในประเทศไทย ข้อมูลปี 2566 ระบุว่ามีขยะอาหารเกิดขึ้น 10.24 ล้านตัน เท่ากับในแต่ละปี เรา 1 คน สร้างขยะอาหาร 155 กิโลกรัม ซึ่งมีทั้งส่วนที่ยังรับประทานได้ประมาณ 40% และส่วนที่รับประทานไม่ได้ 60%
ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ดังนั้น จึงต้องเร่งวางแนวทางในการบริหารจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยได้มอบหมายให้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) หรือกรมลดโลกร้อน และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เร่งวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารของประเทศไทยอย่างจริงจัง ทั้งขยะอาหารส่วนที่ยังรับประทานได้ ต้องมีการจัดการเพื่อลดปริมาณขยะอาหารในส่วนนี้ ซึ่งอาจต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มความรู้และเทคโนโลยีในการจัดการ เพื่อลดการเกิดขยะอาหารในส่วนนี้ รวมถึงการสร้างระบบการจัดการอาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวันให้เกิดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของขยะอาหารที่รับประทานไม่ได้แล้ว ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นทาง ทั้งในครัวเรือนและในส่วนของผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการ เนื่องจากขยะอาหารส่วนใหญ่เป็นขยะที่สามารถย่อยสลายได้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น การหมักทำปุ๋ยได้ และการคัดแยกขยะอาหารออกจากขยะส่วนอื่น ๆ ได้ จะช่วยลดการปนเปื้อนให้กับขยะอื่น ๆ ที่ยังคงถูกทิ้งรวมกัน ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ การลดปริมาณขยะอาหารเข้าสู่การฝังกลบ หรือการเทกองรวมกับขยะอื่น ๆ ยังเป็นการช่วยลดการเกิดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากการฝังกลบขยะอาหารจะทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 28 เท่า ดร.เฉลิมชัย กล่าว