นายกฎชยุตม์ บริบูรณ์จตุพร รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ร่วมมือกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอังกฤษและเยอรมนี เปิดตัวกองทุน RAC NAMA ของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียวสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ช่วยลดภาวะโลกร้อนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยตามอนุสัญญากรุงปารีส
โดย กฟผ. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บริหารเงินกองทุน RAC NAMA ซึ่งประเทศไทยได้รับการพิจารณาจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สำหรับดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เป็นเงิน 320 ล้านบาท (8.3 ล้านยูโร) เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชนิด R600a สำหรับอุปกรณ์ 4 ประเภท ได้แก่ ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำน้ำเย็น โดยแบ่งเงินทุน ออกเป็น 2 ส่วน คือ เงินอุดหนุน 120 ล้านบาท สำหรับให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับการใช้งานสารทำความเย็นธรรมชาติ รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทดสอบและฝึกอบรมในการยกระดับความสามารถของบุคลากร และเงินทุนหมุนเวียน 200 ล้านบาท สำหรับส่งเสริมผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด และกระตุ้นผู้ใช้กลุ่มครัวเรือนและผู้ใช้เชิงพาณิชย์ในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เกิดแรงจูงใจหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“สำหรับ กองทุน RAC NAMA เป็นมาตรการทางการเงินเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติชนิด R600a ซึ่งมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ที่ต่ำมาก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสารทำความเย็นสังเคราะห์ทั่วไปถึง 100 – 1,000 เท่า เมื่อนำมาใช้งานควบคู่กับอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่จะช่วยให้สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 5 – 25 ทั้งนี้ กฟผ. คาดว่ากองทุนดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการ ลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2563 ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP 21 ณ กรุงปารีส และยังถือเป็นกองทุนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษและเยอรมนีผ่านกองทุน NAMA Facility เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ด้วยการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่สำคัญของโลก ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าว