พพ. พร้อมขับเคลื่อนกลไกอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน-อาคาร ชูมาตรการทางการเงินและการให้คำปรึกษา 4 โครงการใหญ่ เพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านพลังงาน งบลงทุนรวม500ล้านบาท คาดผู้เข้าร่วมโครงการ 400แห่ง เกิดผลประหยัดพลังงานในภาพรวมประมาณ 100.5 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ktoe ช่วยชาติประหยัดพลังงานได้กว่า 2,512 ล้านบาท
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ. ) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดงานสัมมนา โครงการ “มหกรรมการเงินเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 2561” ว่า เพื่อให้เกิดการสนับสนุน และเพิ่มแรงจูงใจให้กับสถานประกอบการตัดสินใจลงทุนเกี่ยวกับมาตรการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และสามารถดำเนินการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างจริงจัง พพ.จึงได้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญในปี 2561 นี้ ได้แก่ โครงการให้คำปรึกษาเชิงปฏิบัติการเพื่ออนุรักษ์พลังงานความร้อน (Heat Facilitator) โครงการให้คำปรึกษาเชิงปฏิบัติการเพื่ออนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า (Electric Facilitator) โครงการส่งเสริมการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง (Internet of Thing) ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน (IOT) และโครงการส่งเสริมการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานความร้อนด้วยวิธีอุดหนุนผลประหยัด (DSM Heat) โดยเบื้องต้น งบลงทุนรวม500ล้านบาท คาดผู้เข้าร่วมโครงการ 400แห่ง
คาดว่า ทั้ง 4 โครงการดังกล่าว จะช่วยให้เกิดผลประหยัดพลังงานในภาพรวม ประมาณ 100.5 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และช่วยชาติประหยัดพลังงานได้กว่า 2,512 ล้านบาท
ทั้งนี้ เกณฑ์ให้การสนับสนุน โครงการให้คำปรึกษา ฯ เพื่อการอนุรักษ์พลังงานความร้อน ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอาคารโรงงานควบคุม จำนวนไม่น้อยกว่า 60 แห่ง ผลประหยัดจากโครงการฯ 2,500 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (toe) /ปี โครงการให้คำปรึกษาฯ เพื่อการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอาคารโรงงานควบคุม จำนวนไม่น้อยกว่า 60 แห่ง ผลประหยัดจากโครงการฯ 1,000 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (toe)/ปี
มาตรการปรับปรุงระบบความร้อน (DSM Heat) ให้การสนับสนุนปรับปรุงระบบความร้อนในโรงงานอาคารควบุคม วงเงินรวม 250 ล้านบาท สนับสนุนผู้ใช้งาน (End User) หรือบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ในการอนุรักษ์พลังงานความร้อน ผ่านรูปแบบการอุดหนุนผลประหยัดที่เกิดขึ้นจริงในหน่วยล้านบีทียูต่อปี(MMBTU/ปี) ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 70 บาท/หน่วยที่ประหยัดได้ในระยะเวลา 1 ปี โดยมีเงื่อนไขไม่เกินเงินลงทุนหรือไม่เกิน 10 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ Internet of Thing วงเงินรวม 220 ล้านบาท สนับสนุนเงินลงทุนสูงสุด ในอัตราร้อยละ 20 ของเงินลงทุนในมาตรการนั้นๆ แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท เป็นต้น
“พพ. พร้อมเร่งโครงการอนุรักษ์พลังงานด้านไฟฟ้า ความร้อน และส่งเสริมการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ ในอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ให้แก่โรงงานและอาคารควบคุม ให้ได้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งจะนำมาสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความยั่งยืนในด้านการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ โดยการสร้างแรงจูงใจ อีกทั้งยังให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ จะช่วยให้เกิดแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อประโยชน์และยั่งยืนต่อไป” นายประพนธ์กล่าว