นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลสมบูรณ์แบบ" ภายในงาน Thailand’s Digital Transformation Forum "How Telecom Infrastructures will Enhance Thailand’s Digital Transformation" ว่า การที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมยุคดิจิทัล ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และนำพาสังคมไปสู่ก้าวใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีในระดับชุมชน ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ หรือการทำงานกับประเทศเพื่อนบ้าน และการใช้ดิจิทัลเพื่อช่วยให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น โดยทางรัฐบาลก็มีการมอบหมายงานสำคัญให้กระทรวงดิจิทัลดำเนินการ คือ การขับเคลื่อน Big data 20 กระทรวง ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะเริ่มเห็นผลของการใช้ Big data ให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุน EEC โดยมีพื้นที่ในการพัฒนากว่า 709 ไร่ ที่เรียกว่า Digital Park Thailand
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ก็จะมีการตั้งสถาบัน Internet Of Think (IOT) ที่อ.ศรีราชา ไปจนถึงการพัฒนาคน ในการเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านทักษะ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย 10 คัสเตอร์ โดยเบื้องต้นจะมุ่งการพัฒนาทั่วไปให้มีทักษะด้านดิจิทัล ทั้งเพื่อการทำมาหากิน เพื่อการสื่อสาร เรียนรู้ และการพัฒนาระบบสังคม ส่วนในเรื่องอื่นๆ ทางกระทรวงฯ ก็จะพยายามทำให้นักลงทุนต่างๆ เข้าใจในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น
สำหรับความคืบหน้าของโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน 7.5 หมื่นหมู่บ้าน คาดว่าปีนี้น่าจะสามารถดำเนินการได้ครบตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่อีก 4 หมื่นหมู่บ้าน มองว่าหลังจากนี้หมู่บ้านต่างๆ น่าจะใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ คาดว่าปีนี้จะให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้นำในหมู่บ้านได้ 1 ล้านคน เพื่อยกระดับชุมชนและให้ชุมชนค้าขาย E-commence ได้ ซึ่งปีนี้จะดำเนินการเพิ่มอีก 1 หมื่นหมู่บ้าน ขณะเดียวกันปีนี้รัฐบาลจะลงทุนขยาย Capacity เพิ่มเติมอีกในเรื่องของโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพความจุภายในประเทศและเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านให้สูงขึ้นหลายเท่าตัว รวมถึงอยู่ระหว่างการหาพาทเนอร์ เพื่อร่วมลงทุนในการวางสายเคเบิลใต้นน้ำเส้นใหม่ จากประเทศไทยไปประเทศฮ่องกง หวังว่าจะเชื่อมกับโครงการ one belt one road ให้ได้
นอกจากนี้กฎหมายทางด้านไซเบอร์ คาดว่าจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเร็วๆ นี้ และกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ก็คาดว่าจะเข้าสู่ครม. ในเวลาใกล้เคียงกัน รวมถึงยังมีอีกหลายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีความมั่นคงเชื่อมโยงเป็นมาตรฐานเดียวกับโลกที่จะเข้าครม.ในระยะถัดไป
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแผนที่จะจัดตั้งสถาบันไซเบอร์ซีเคียวริตี้แห่งชาติ อีกด้วย เพื่อดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเข้ามาดูแลในกลุ่มไฟแนนซ์, เทเลคอม, ความมั่นคง และสาธารณสุข เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดเผยถึงการนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน มี.ค.นี้ เพิ่มเติมภายหลังว่า โดยเมื่อกฎหมายทั้ง 2 ฉบับบังคับใช้ จะมีการตั้ง 2 หน่วยงานใหม่ขึ้น เพื่อกำกับดูแลในส่วนของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และส่วนของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ “เนชั่นแนลไซเบอร์ซีเคียวริตี้เอเยนซี่” ดูแลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทั้งการเงินธนาคาร คมนาคม สาธารณูปโภค สาธารณสุข และความมั่นคง
โดยเมื่อร่าง พ.ร.บ.ผ่าน ครม.แล้ว ในส่วนของกฎหมายไซเบอร์จะเสนอให้ ครม.อนุมัติการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้เริ่มดำเนินงานไปพลางก่อน โดยให้ไทยเซิร์ต หน่วยงานภายใต้ สพธอ.(สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) เป็นผู้ประสานงานหลัก เมื่อ พ.ร.บ.ประกาศใช้ค่อยยกระดับขึ้นมาเป็นเนชั่นแนลไซเบอร์ซีเคียวริตี้เอเยนซี่
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวแจ้งว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. … ซึ่งเมื่อเทียบกับร่างฉบับเดิม พบว่ามีความแตกต่างในหลายประเด็น สาระสำคัญคือ การตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และไม่ได้ระบุให้มอบหมายงานให้รองนายกรัฐมนตรีได้เหมือนร่างฉบับก่อนนี้
ส่วนกรรมการโดยตำแหน่ง เพิ่มจาก 13 คน เป็น 17 คน และระบุให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญทั้งหมด ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข ต่างกับเดิมที่กำหนดเป็นปลัดกระทรวง ทั้งเพิ่มให้เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้ามาเป็นบอร์ดด้วย
ทั้งยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 7 คน ซึ่ง ครม.ตั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านไอที กฎหมาย และอื่น ๆ โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ห้ามติดต่อกันเกิน 2 วาระ และให้ปลัดกระทรวงดีอีเป็นกรรมการและเลขานุการบอร์ดไซเบอร์ จากเดิมกำหนดให้เลขาธิการขององค์กรใหม่ที่จะตั้งขึ้นทำหน้าที่นี้
ส่วนอำนาจของบอร์ดชุดนี้ ได้แก่ การจัดทำนโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดให้มีกฎหมายหรือปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเสนอให้ ครม.อนุมัติ ทั้งยังมีอำนาจสั่งให้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนดำเนินงานให้สอดคล้องตามแผนที่กำหนด หากหน่วยงานรัฐฝ่าฝืนถือว่ากระทำผิดวินัย และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภยันตรายจากภัยไซเบอร์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ให้บอร์ดมีอำนาจสั่งการทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือบุคคล กระทำหรืองดการกระทำเพื่อระงับความเสียหาย หากฝ่าฝืน มีทั้งโทษจำคุก-โทษปรับ (ยังไม่ได้ระบุอัตราโทษ)