ช่วงนี้รัฐบาลยังเดินหน้าออกมาตรการต่อเนื่องหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ล่าสุดได้อัดฉีดมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ 3 ส่วนด้วยกัน เรียกได้ว่าถูกใจทั้งคนขายอย่างผู้ประกอบการ และประชาชนคนซื้อบ้านที่มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง โดยมาตรการส่วนแรก เป็นมาตรการการเงินที่ให้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง วงเงินรวมเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท กำหนดระยะเวลารับคำขอและการทำนิติกรรม 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2558 ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี เน้นผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท
ส่วนที่ 2 เป็นมาตรการการคลัง ซึ่งได้ปรับลดภาษีการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ระยะเวลา 6 เดือน และส่วนที่ 3 มาตรการทางภาษีประชาชนที่ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สามารถใช้สิทธินำเอา 20% ของมูลค่าบ้าน มาหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.59 เป็นต้นไป ซึ่งต้องเป็นการวื้อบ้านครั้งแรกเพื่อใช้อยู่อาศัยจริง และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.58 จนถึง 31 ธ.ค.59 นอกจากนี้ ยังให้ปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% เป็นการถาวร และยังเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีในกองทุนร่วม เอสเอ็มอี เวนเจอร์ แคปปิตอล เป็นระยะเวลา 10 ปีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินต่างปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อบ้านเข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้คนที่มีอาชีพอิสระ หรือมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ขอสินเชื่อไม่ได้ คิดเป็นยอดที่สถาบันการเงินปฏิเสธการขอสินเชื่อเฉลี่ยถึง 30-40% ดังนั้นการออกมาตรการดงกล่าวจึงเป็นมาตรการผ่อนปรนเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้ลูกค้าระดับกลางและล่าง เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า มาตรการเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ตามนโยบายรัฐบาล ได้เปิดให้ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.2558 และทำนิติกรรมได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งธนาคารมั่นใจว่าจะมีผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลางต้องการกู้เป็นจำนวนมาก คาดว่าจะปล่อยกู้ได้ประมาณ 1 หมื่นราย ซึ่งหากเต็มวงเงินก็พร้อมพิจารณาขยายวงเงินกู้เพิ่มเติมอีก
“ในวันแรก(19 ต.ค.)ของการขอสินเชื่อมาตรการเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางตามนโยบายรัฐบาล ในวันแรก มีประชาชนยื่นคำขอเงินกู้กว่า 2,000 รายทั่วประเทศ คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท คาดว่าจากนี้จะมีผู้เข้ายื่นขอเฉลี่ยวันละ 1,000 ล้านบาท หรือจะครบวงเงิน 10,000 ล้านบาท ภายในไม่เกิน 1 เดือน โดยลูกค้ารายแรกที่ยื่นขอกู้ มารอที่ธนาคารสำนักงานใหญ่ ตั้งแต่เวลา 05.00 น. หากเอกสารพร้อมสามารถอนุมัติเงินกู้ได้ภายใน 3 วันทำการ หและจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ ในการประเมิน ในการเพิ่มวงเงินการปล่อยสินเชื่อใหม่ คาดว่าลูกค้าเฉลี่ยขอกู้รายละ 2 ล้านบาท”
ทั้งนี้ ธอส.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ในอีก 1-2 สัปดาห์ เพื่อพิจารณาขยายวงเงินกู้ และปล่อยกู้ไม่จำกัดวงเงินเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งธนาคารไม่กังวลเรื่องหนี้เที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) จากโครงการดังกล่าว เพราะมีระบบตรวจสอบ มีหลักเกณฑ์ที่มาของรายได้ ที่จะพิสูจน์ว่าประชาชนมีความต้องการที่อยู่อาศัยจริง
สำหรับ มาตรการดังกล่าว ธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยปีแรกที่ 3.50% ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 4.25% ต่อปี ปีที่ 3 ตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ย MRR-0.75% ต่อปี โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 6.75% ต่อปี โดยผู้กู้สามารถกู้ซื้อได้ทั้งบ้านหลังแรกและบ้านมือสอง และสามารถกู้ร่วมได้ ในกรณีที่หลักทรัพย์ไม่ถึง
นอกจากนี้ ธนาคารจะใช้เงื่อนไขผ่อนปรนในการพิจารณาสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อราย (DSR) จากปัจจุบันในอัตรา 33% เป็นสูงสุด 50% ทำให้ผู้กู้ที่มีรายได้สุทธิ 3 หมื่นบาท สามารถกู้ได้ 3 ล้านบาท โดยปกติรายได้สุทธิ 3 หมื่นบาท จะกู้ได้ 1.8 ล้านบาท เมื่อผ่อนปรนเกณฑ์ก็ทำให้สามารถกู้ได้สูงสุดที่ 3 ล้านบาท แต่ก็จะทำให้ภาระผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้นไปด้วย ซึ่งการขยายวงเงินกู้จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีโอกาสซื้อบ้านมากขึ้น ทั้งนี้NPL ของธนาคารสิ้นเดือน ก.ย.2558 อยู่ที่ 5.4% ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 5.99% และมีสัดส่วนปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 1.08 แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่ 1.49 แสนล้านบาท
ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า รัฐบาลมีแนวคิดจะทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งครอบคลุมถึงประชาชนทั่วไป ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่มีเงินเดือนหรือรายได้ไม่ถึงหมื่นบาทหรือหมื่นบาทต้นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้มีบ้านเป็นของตัวเอง สามารถผ่อนจ่ายได้เดือนละ 3-4 พันบาท ในราคา 5-6 แสนบาท เนื่องจากการทำหน้าที่ของการเคหะฯ ในช่วงที่ผ่านมาเพียงหน่วยงานเดียวอาจไม่เพียงพอรองรับความต้องการดังกล่าวได้
รัฐบาลจึงอยากดึงภาคเอกชนให้ผนึกกำลังเข้ามาร่วมทำโครงการเพื่อสังคมในครั้งนี้ (โซเชียล เอ็นเตอร์ไพร้ส์) เนื่องจากสมาคมอสังหาฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว จึงมอบหมายให้ภาคเอกชนไปหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปถึงรูปแบบการดำเนินโครงการภายใน 1 เดือน
"ภาคเอกชนมีงบทำกิจกรรมเพื่อสังคม(ซีเอสอาร์)ในแต่ละปีอยู่แล้ว แต่ทำแบบกระจัดกระจายและมีเป้าหมายหลากหลาย เช่น สร้างวัด สร้างโรงเรียน แต่ต่อไปได้ขอความร่วมมือให้นำงบดังกล่าวมาใช้สร้างบ้านขายให้ผู้มีรายได้น้อยโดยไม่แสวงหาผลกำไร หรือมีกำไรน้อยที่สุดเพื่อนำเงินนั้นไปหมุนเวียนสร้างบ้านเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยที่รัฐอาจจะมีแรงจูงใจให้นำรายจ่ายดังกล่าวไปหักภาษีได้มากกว่าปกติ และการจะสร้างบ้านขายในราคาดังกล่าวได้ต้องเป็นที่ดินของรัฐ เช่น ที่ราชพัสดุในความดูแลของกรมธนารักษ์ หรือที่ของการรถไฟ หรือรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหาที่ดินที่เหมาะสมอยู่ใกล้แหล่งชุมชนทั้งในเมืองและตามต่างจังหวัดต่อไป โดยผู้ซื้อบ้านจะต้องเช่าระยะยาวได้ถึง 99 ปี ส่วนออมสินและธอส.จะเข้ามารองรับส่วนของการให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยต่อไป"
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวเสริมว่า ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการทำโครงการบ้านเพื่อคนจน โดยจะใช้วิธีลงขันเงินกันจำนวนหนึ่งในระยะเริ่มต้น แต่ต้องไปดูความเหมาะสมอีกครั้งขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งและจำนวนที่ดินที่จะก่อสร้างด้วย ส่วนเงินทุนก่อสร้างสามารถกู้จากสถาบันการเงินของรัฐได้ โดยมองว่ามาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ที่ออกมาช่วยผลักดันให้ยอดขายโครงการนับจากนี้ต่อเนื่องปีหน้าปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้ธุรกิจอสังหาฯ ในกทม.และปริมณฑลปีนี้เติบโตได้เพิ่มจาก 5% เป็น 13% และปีหน้าโตได้ 5-10%
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า หลังจากนี้ไปรัฐบาลจะหยุดออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือนกว่าจะเพียงพอต่อการประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ยากลำบากได้ แต่จะไม่ประมาทหากเห็นว่าเศรษฐกิจมีความจำเป็น อาจออกมาตรการเพิ่มเติมมาได้ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ยืนยันว่า ไม่ได้มุ่งหวังการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ให้ขยายตัวสวนกระแสโลก แต่มีเป้าหมายดำเนินการ เพื่อยับยั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เน้นแก้ปัญหารากฐานของประเทศจริง ๆ
"ช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา ได้พยายามเข้าไปหยุดยั้ง ชะลอตัวของการทรุดตัวของเศรษฐกิจ เห็นได้จากมาตรการหลายชุด ที่ต้องการเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ มุ่งเป้าเกษตรกรที่มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้ขยายตัวอย่างมั่นคง โดยมองว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ เพียงแต่เผชิญความท้าทาย 2 เรื่อง คือ เศรษฐกิจที่กำลังซบเซาจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และการส่งออกที่ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ซึ่งต้องเร่งปรับความสามารถในการแข่งขันของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เสื่อมถอย "
ส่วนนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมา โดยเฉพาะมาตรการระยะแรกวงเงิน 1.36 แสนล้านบาท ที่ดำเนินการผ่านกองทุนหมู่บ้าน การใช้จ่ายในระดับตำบล และโครงการลงทุนขนาดเล็กจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีเติบโตได้ 2.7%
นอกจากนี้ผลของมาตรการดังกล่าว เมื่อรวมกับแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินออกมาชัดเจนขึ้นในปีหน้า จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2559 มีการเติบโตที่เด่นชัดขึ้น ศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวได้ 3.5%
"เศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายของปีนี้เริ่มมีปัจจัยบวกกลับเข้ามาเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นเม็ดเงินจากการกระตุ้นในแพ็คเกจแรกเข้าสู่ระบบในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยมาตรการนี้มองว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.3% ทั้งปีนี้และปีหน้าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งขึ้น"
สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการช่วยลดหรือระบายสต็อกในมือของภาคอสังหาริมทรัพย์มากกว่า ดังนั้นผลในเชิงเศรษฐกิจจึงไม่ได้มีมาก เพราะไม่ได้นำไปสู่การลงทุนก่อสร้างโครงการใหม่ๆ