ดร.สัญชัย คูบูรณ์ นักวิจัยจากทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาระดับนาโน การดูดซับ และการคำนวณ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เครื่อง BioComposter ระบบถังคู่ขนาด 5 – 10 กิโลกรัม ใช้สำหรับการทำปุ๋ยหมักชีวภาพระดับครัวเรือน เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดปริมาณขยะอินทรีย์ที่มาจากขยะอาหาร และลดการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร นำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกต้นตอของภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และยังช่วยลดฝุ่น PM2.5 อีกด้วยโครงการดังกล่าว เป็น 1 ใน 19 โครงการนำร่องของ สวทช. ในการตอบโจทย์สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของสระบุรี ที่ สวทช. ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายพลังงานขับเคลื่อนให้เกิด ‘สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์’ จังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในระยะเวลา 4 ปี “การลดก๊าซเรือนกระจกสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การใช้ถ่านชีวภาพเพื่อลดการใช้ถ่านหิน ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสำหรับปุ๋ยหมักชีวภาพ จะเป็นการใช้ วทน. เปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้กลายเป็นปุ๋ยใส่กลับเข้าไปกักเก็บในดิน ที่ตอบโจทย์ของสระบุรี ซึ่งมีขยะอินทรีย์ที่ต้องบริหารจัดการ 2 แบบ คือ ชีวมวลเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีมากในพื้นที่นั้น และขยะอาหาร” สำหรับเครื่อง BioComposter ระบบถังคู่ ใช้สำหรับการทำปุ๋ยหมักชีวภาพระดับครัวเรือน ตอบโจทย์สำหรับขยะอินทรีย์ ทั้งเศษอาหารจากครัวเรือน รวมถึงชีวมวลเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ออกแบบตัวเครื่องระบบถังคู่ที่ถังหลัก (Primary Tank) ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะกับการทำงาน ของจุลินทรีย์ ในขณะที่ถังรอง (Secondary Tank) มีหน้าที่ลดความชื้นของปุ๋ยหมักชีวภาพให้เหมาะสำหรับการ นำไปใช้งาน นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับทีมวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในการพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความจำเพาะในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ในประเทศไทย โดยช่วยให้ปุ๋ยหมักชีวภาพที่เป็นผลผลิตจากกระบวนการดังกล่าวนี้ มีธาตุอาหารที่สำคัญเพิ่มขึ้น และสามารถยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคได้อีกด้วย การทำงานของเครื่อง BioComposter เริ่มจากใส่ขยะอินทรีย์ลงในถัง Primary Tank โดยใช้อุณหภูมิไม่เกิน 50 องศาเซลเซียสในการกระตุ้นจุลินทรีย์ จากนั้นปุ๋ยหมักชีวภาพจะถูกย้าย ลงไปในถัง Secondary Tank เพื่อทำให้ปุ๋ยหมักชีวภาพแห้งและพร้อมใช้งาน กระบวนการนี้จะใช้เวลา 3-7 วัน