ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
จำคุก กสทช.พิรงรอง 2 ปี ไม่รอลงอาญา ชี้กลั่นแกล้ง ทรู เสียหาย
06 ก.พ. 2568

วันนี้ (6 ก.พ.2568) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา คดีระหว่างฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และจำเลย คือ นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ตัดสินจำคุก กสทช.พิรงรอง 2 ปี ไม่รอลงอาญา เหตุมีเจตนากลั่นแกล้งทำให้ ทรู ดิจิทัล ไอดี บริษัทในกลุ่มทรู ดิจิทัล กรุ๊ปเสียหาย

สำหรับคดีดังกล่าว เนื่องจากการมีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. ในปี 2566 หลังจากได้พบว่าบนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชัน 'ทรู ไอดี' มีการโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอปฯ ทรูไอดีได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง

ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ได้พิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าว และ สำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ให้ตรวจสอบว่ามีการนำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใดหรือนำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มใดและให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นไปตามหลัก “มัสแครี่” (Must Carry) ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้ แม้หนังสือดังกล่าวไม่ได้ส่งตรงไปยังบริษัท ทรู ดิจิทัลฯ เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่บริษัทได้อ้างว่าการออกหนังสือดังกล่าวทำให้ตนเองเสียหาย จึงนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อการทำหน้าที่ของประธานอนุกรรมการชุดนี้ คือ กสทช. พิรงรอง รามสูต

ก่อนหน้านี้ ในเดือน เมษายน 2567 ศาลมีคำสั่งประทับฟ้องบริษัททรูดิจิทัลฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ กสทช.พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ แต่ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2567 ศาลยกคำร้องดังกล่าว โดยพิจารณาว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง

อย่างไรก็ตาม หาก กสทช. พิรงรอง ถูกตัดสินว่ามีความผิดและไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัวระหว่างรอการอนุมัติการอุทธรณ์ จะต้องสิ้นสภาพการเป็น กสทช. ทันที

อนึ่ง ผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคุณสมบัติของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 7 (6) และ (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. ว่า เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือ เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ศาลยังพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การออกอากาศบนแอปฯ ทรู ไอดี เป็นการออกอากาศผ่าน OTT นั้นยังไม่มีข้อกฎหมายที่จะต้องขออนุญาตจาก กสทช.และการกระทำของจำเลยที่มีการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่กสทช.ออกหนังสือเป็นการและมีคำพูดในทำนองว่า ตลบหลัง และการล้มยักษ์นั้น ทำให้มีหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การต่อสู้ของจำเลยเป็นการกล่าวอ้างลอยๆไม่มีพยานหลักฐานน้ำหนักให้หักล้างพยานโจทก์ได้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
13 ม.ค. 2568
ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (thaibizsingapore.com) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ปริมาณการค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 644,383 ...