ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กรมปศุสัตว์ เร่งคุมโรคพิษสุนัขบ้า ชี้ที่ติดโค เพราะโดนกัด
06 ก.พ. 2568

กรมปศุสัตว์ แจง โคโดนกัดทำติดเชื้อพิษสุนัขบ้า แต่ไม่สู่คน ลั่นอย่าทานเนื้อดิบ พร้อม เร่งมาตรการควบคุม แก้ปัญหาสุนัขจรจัด ลดปัญหาการแพร่โรคสู่ปศุสัตว์

นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์  เปิดเผยว่า ประเด็นโคติดเชื้อพิษสุนัขบ้า เกิดจากสาเหตุถูกสุนัขติดเชื้อกัด ซึ่งยังไม่พบรายงานการแพร่ระบาดจากโคสู่โคร่วมฝูงหรือสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ มีมาตรการเร่งรัดในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในทุกพื้นที่เกิดโรค และอบรมให้ความรู้ด้านโรคพิษสุนัขบ้าแก่คนในพื้นที่ รวมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวจรจัดเพื่อควบคุมประชากร

สำหรับ ปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่มีการแพร่โรคในกลุ่มโคกระบือในประเทศไทยว่า ปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้าพบการระบาดในบางพื้นที่ และพบมากในกลุ่มสุนัขจรจัด โดยจากข้อมูลการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าย้อนหลัง 5 ปี พบการติดเชื้อในโคกระบือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 26 ตัวต่อปี หรือร้อยละ 10 – 15 ของจำนวนสัตว์ที่พบติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมดในประเทศไทย และมีสาเหตุการติดเชื้อมาจากการถูกสุนัขกัด ซึ่งพบมากในแถบทางภาคอีสานและทางใต้ของประเทศไทย

 โดยยังไม่พบการรายงานการแพร่ระบาดจากโคสู่โคร่วมฝูงหรือสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ระบุว่า กรณีที่มีการรับประทานเนื้อโคที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่ทำให้สุก มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งหากมีการบริโภคเนื้อวัวดังกล่าว แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะติดเชื้อจากการสัมผัสหรือบริโภคเนื้อวัวดิบถือว่าค่อนข้างน้อยมาก

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้มีมาตรการเร่งรัดในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในทุกพื้นที่เกิดโรค โดยทุกครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จะเร่งลงพื้นที่สอบสวนโรค ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขแมวรอบจุดเกิดโรคให้ครอบคลุมทุกตัวในพื้นที่ ค้นหาโรคและติดตามหาคน/สัตว์ถูกกัดหรือสัมผัสเชื้อในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค กักสัตว์ถูกกัดหรือสัมผัสเชื้อ (รวมไปถึงโคกระบือในฝูงที่พบโรค) เพื่อดูอาการเป็นระยะเวลา 15 วัน พร้อมฉีดวัคซีน จับฝูงสุนัขจรจัดที่มีโอกาสเป็นแหล่งรังโรคในพื้นที่มากักดูอาการ พร้อมทำหมันและฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อในพื้นที่

ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว ตามพรบ.โรคระบาดสัตว์เป็นระยะเวลา 30 วัน เฝ้าระวังโรคในพื้นที่ต่อเนื่องนาน 6 เดือน และอบรมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านโรคพิษสุนัขบ้าแก่คนในพื้นที่ ซึ่งกรณีที่มีความจำเป็นต้องสั่งทำลายปศุสัตว์กลุ่มเสี่ยงที่สงสัยโรคพิษสุนัขบ้า ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ สามารถให้เงินชดใช้ให้แก่เกษตรกรได้ 3 ใน 4 ของราคาสัตว์

 
 
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
13 ม.ค. 2568
ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (thaibizsingapore.com) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ปริมาณการค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 644,383 ...