นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศเรื่องกำหนดปริมาณจัดสรรเนื้อยางสำหรับการส่งออก พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 มกราคม 2561 โดยจัดสรรปริมาณเนื้อยางสำหรับการส่งออกให้กับบริษัทผู้ส่งออกแต่ละรายจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 นั้น กรมฯได้มอบหมายให้ด่านตรวจพืช เช่น ด่านตรวจสุไหงโกลก ด่านตรวจพืชสะเดา ด่านตรวจพืชหนองคาย ด่านตรวจพืชเชียงของ และด่านตรวจพืชเชียงแสน คุมเข้มส่งออกยางพารา และประสานศุลกากรสร้างจุดตรวจร่วม สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ 100% ทุกตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมติดตามการส่งออกอย่างใกล้ชิด โดยออกใบผ่านด่านศุลกากรในการส่งยางออกไปนอกราชอาณาจักร ให้แก่บริษัทผู้ส่งออกตามปริมาณการจัดสรรเนื้อยางสำหรับการส่งออกที่แต่ละบริษัทได้รับ ซึ่งหากครบตามปริมาณที่ได้รับการจัดสรรแล้วจะไม่ออกใบผ่านด่านศุลกากรการส่งยางออกไปนอกราชอาณาจักร ให้แก่บริษัทผู้ส่งออกอีก
ในกรณีกลุ่มบริษัทที่เป็นเครือเดียวกันใช้โควตาที่ได้รับการจัดสรรแทนกันได้ แต่ต้องมีชื่อผู้ถือหุ้นตามหนังสือบริคนธ์สนธิเป็นเจ้าของเดียวกัน และต้องแจ้งให้กองการยาง กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบก่อน เพื่อควบคุมยอดจัดสรรไม่ให้ส่งออกเกินปริมาณที่ได้รับการจัดสรร ส่วนบริษัทที่โควตาหมดจะไปนำโควตาของบริษัทอื่นมาส่งออกไม่ได้ โดยกรมวิชาการเกษตรจะไม่ออกใบผ่านด่านให้โดยเด็ดขาด
โดยการดำเนินการครั้งนี้เป็นอีกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายางที่ผิดปกติและมีความผันผวน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก โดยนำข้อตกลงดังกล่าวมาดำเนินการอย่างเคร่งครัด ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราของประเทศไทย ซึ่งมีทั้งพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542 โดยกรมวิชาการเกษตรดูแลและควบคุมปริมาณการส่งออกยางของประเทศไทยออกนอกราชอาณาจักร และตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดปริมาณจัดสรรเนื้อยางแห้งสำหรับการส่งออก พ.ศ.2561 โดยการตรวจเข้มตามมาตรการดังกล่าวนี้ ได้ดำเนินการในพื้นที่ที่มีการส่งออกยางพาราทั่วประเทศ