ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
ศรีสะเกษ ! ผู้ว่าฯศรีสะเกษลั่นฆ้องสืบสานตำนานพันปีไหว้พระธาตุตำบลปราสาท ประจำปี 2568
13 ก.พ. 2568

        เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์. 2568  ที่ปราสาทบ้านปราสาท ต.ปราสาท อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ   นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดงานสืบสานตำนานพันปี ประเพณีไหว้พระธาตุ ตำบลปราสาท ประจำปี 2568   โดยมีนายตระการ ชาลี นายอำเภอห้วยทับทัน นายชยามร บุญเต็ม นายก อบต.ปราสาท  ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ   และนายพนัส จันทร์คำ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ  นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่อำเภอห้วยทับทัน  ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก โดยในโอกาสนี้ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมฟ้อนรำในขบวนรำบวงสรวงด้วยนางรำจำนวน 160 คนด้วย  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีในท้องถิ่น และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้รับทราบว่าปราสาทบ้านปราสาทเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของอำเภอห้วยทับทัน และจังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันบำเพ็ญกุศล อันจะเป็นบ่อเกิดแห่งความรักความสามัคคีและความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา  

       นายตระการ ชาลี นายอำเภอห้วยทับทัน กล่าวว่า พระธาตุหรือปราสาทบ้านปราสาท เป็นองค์ปราสาทสามยอด ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยม ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วซึ่งก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ปราสาทบ้านปราสาทเป็นโบราณสถาน ที่มีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ชาวตำบลปราสาทและพุทธศาสนิกชนทั่วไปเชื่อว่า ปราสาท 3 องค์นี้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง    เมื่อปี พ.ศ.2551 กรมศิลปากร ได้มาทำการขุดสำรวจบริเวณปราสาทและหลุม   ขุดค้นบริเวณด้านหลังองค์ปราสาท ในการขุดสำรวจได้พบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย เช่น เทวรูป กำไลสำริด ลูกปะคำสีส้ม กระสุนดินดินปืน เม็ดพลอย โครงร่าง กระดูกมนุษย์โบราณ ที่มีอายุราว 1,500 - 3,000 ปี ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ที่มีความลึก 7 เมตร และทับหลังจำนวน 4 ชิ้น ได้แก่ 1.ทับหลังบุคลทรงโคนนทิ 2.ทับหลังหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย 3.ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ และ4.ทับหลังกวนเกษียรสมุทร   โดยเฉพาะทับหลังกวนเกษียรสมุทร ที่ขุดพบที่นี่ จะเหมือนกับทับหลังกวนเกษียรสมุทร ที่โคปุระ ชั้นที่ 3 ของปราสาทเขาพระวิหาร  คือจะมีภาชนะคล้ายโอ่งน้ำอยู่บนหลังเต่า จากการศึกษาและสำรวจของกรมศิลปากร จะไม่ปรากฎพบทับหลังลักษณะนี้ในที่ใดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นใน ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว แต่ได้มาพบที่ปราสาทแห่งนี้  ทั้งนี้กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าผู้ที่สร้างปราสาทบ้านปราสาท กับผู้ที่สร้างปราสาทเขาพระวิหาร เป็นช่างสกุลเดียวกัน ปัจจุบันโบราณวัตถุที่ขุดพบ ถูกนำไปเก็บไว้ที่กรมศิลปากร ที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีและเป็นการสักการะบรรพบุรุษ ดังนั้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ชาวตำบลปราสาทห้วยทับทัน จึงร่วมกันจัดงานสืบสานตำนานพันปี ประเพณีไหว้พระธาตุ ตำบลปราสาท เป็นประจำทุกปี.
    
**********

ข่าว/ภาพ  บุญทัน  ธุศรีวรรณ  ศรีสะเกษ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 28 กุมภาพันธ์ 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
13 ม.ค. 2568
ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (thaibizsingapore.com) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ปริมาณการค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 644,383 ...