สมคิดชู 3 กลยุทธ์โชว์นักลงทุน ลั่นพร้อมลุยโครงสร้างพื้นฐานทุกด้าน สั่งศึกษารถไฟกรุงเทพ-หัวหิน-สุราษฎร์ส่งเสริมการท่องเที่ยว คาดทีโออาร์เสร็จภายในปีนี้ เผยความคืบหน้าการลงทุนอีอีซีทั้งสนามบินและท่าเรือ ส่วนใหญ่เห็นความชัดเจนก่อนสิ้นปีแน่นอน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายในงาน" Thailand Taking off to New Heights" ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมกว่า 3,000 คน ว่ารัฐบาลได้เตรียมความพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1.โครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โครงการรถไฟฟ้าทางคู่เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภาคเหนือ กลาง อีสานและใต้
รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยเป็นแผนพัฒนาช่วง 5 ปี (2560-2564) มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ในขณะที่ได้จัดเตรียมโครงการลงทุนด้านพลังงาน ทั้งการสำรวจแหล่งพลังงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ โครงการลงทุนในโครงข่ายในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไฟฟ้าในช่วงปี 61-65 ในวงเงินรวมกว่า 700,000 ล้านบาท
“โครงการลงทุนขนาดใหญ่จะยกขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทางด้านกายภาพ เช่น โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 464 กม. เหลือโครงการที่กำลังจะเปิดประมูลอีก 9 ช่วงตอน วงเงินเกือบ 4 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัด รวม 4 จังหวัด มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท ที่จะเริ่มต้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า รถไฟทางคู่เตรียมประมูล 10 สาย วงเงินรวม 2.8 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องการเชิญ ต่างชาติมาร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมภาคตะวันตก-ตะวันออก (East-West Corridor) จาก จ.ตาก-มุกดาหาร ซึ่งให้เกาหลีใต้ศึกษาความเป็นไปได้โครงการเสร็จแล้ว เหลือเพียงกระทรวงคมนาคมประกาศแนวทางการลงทุน
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย เริ่มต้นก่อสร้างระยะแรกแล้ว โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน กำลังร่าง ทีโออาร์ โดยรวมโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดปี 2560-2564 จะลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนด้านไฟฟ้าปี 2561-2565 วงเงิน 7 แสนล้านบาท" นายสมคิด กล่าว
ยุทธศาสตร์ด้านที่ 2 กลุ่มโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เพื่อเป็นฐานรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่เน้นการเพิ่มมูลค่า รองรับการขนส่งสินค้าเข้าและในซีแอลเอ็มวี โดยรัฐบาลได้จัดให้มีโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยองเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินลงทุนประมาณ 236,700 ล้าน คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ในเดือนมี.ค. นี้ หรืออย่างช้าต้นเดือนเม.ย. เพื่อให้พร้อมเปิดดำเนินการปี 2566 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ได้ในเดือนก.ค. 2561 โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1 คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ ได้ในเดือนนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 150,000 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ได้ในเดือนส.ค. และโครงการท่าเรือมาบตะพุด ระยะ 3 มูลค่าโครงการประมาณ 110,000 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศทีโออาร์เดือนมิ.ย. 61
และยุทธศาสตร์ที่ 3 กลุ่มโครงการเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล อาทิ การลงทุนในระบบ อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้ริเริ่มโครงการลงทุนเคเบิลใต้น้ำ เชื่อมโยง ไทย ฮ่องกง จีน เพื่อให้ไทยสามารถเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ในระดับภูมิภาค และการสร้างและพัฒนาดิจิทัลเทรดดิ้ง และการขับเคลื่อนภาคการผลิตและภาคบริการให้เกิดความตื่นตัวเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัลเทคโนโลยีได้ในที่สุด
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เร็วๆ นี้มีแผนเตรียมเดินทางไปชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) ที่ประเทศบังคลาเทศ ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ เพื่อนำเสนอแนวทางการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ตัวแทนจากบังคลาเทศได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงแนวทางการลงทุนร่วมกัน ตลอดจนแนวทางในการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ร่วมกันด้วย
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม ให้มีการเติบโตอย่างครอบคลุมทั่วทุกภาคส่วน และผลักดันให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีแผนดำเนินงานใน 3 ส่วน คือ 1.การเพิ่มผลิตภาพทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศไทยมีความชำนาญ 2.การรวมกลุ่มในภูมิภาค เปิดเสรีการค้าและบริการระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และ 3.การสร้างระบบนิเวศด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ปรับปรุงมาตรการและปัจจัยเอื้อให้เกิดการจัดระบบนวัตกรรมให้มีการเชื่อมโยงระหว่างการผลิต