นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งหนังสือแจ้งด่วนที่สุดถึงทุกจังหวัด เกี่ยวกับรายละเอียดโครงการไทยนิยม ยั่งยืน และงานงบประมาณกลางปี (เพิ่มเติม) 2561 วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งรอบแรกได้เปิดเวทีปรับทุกข์ ผูกมิตร สำรวจความต้องการได้มีเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมทุกโครงการจำนวนมากในทุกพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยขึ้นทะเบียนยากจน 3.9 ล้านราย เพื่มขึ้นร้อยละ 5 โดยคาดว่าโครงการนี้จะเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนทุกชุมชนทั่วประเทศ 4.6 แสนล้านบาท ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย แผนงานที่ 1 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร จำนวน 20 โครงการ ดังนี้
1.โครงการสร้างฝายชะลอน้ำและจัดหาแหล่งน้ำชุมชน โดยกรมพัฒนาที่ดิน พื้นที่ดำเนินการ 46 จังหวัด และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พื้นที่ดำเนินการ 27 จังหวัด งบประมาณ 124 ล้านบาท 2.โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน โดยกรมชลประทาน พื้นที่ดำเนินการ 30 จังหวัด งบประมาณ 9,966 ล้านบาท 3.โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน โดยการยางแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการเกษตร พื้นที่ดำเนินการ 46 จังหวัด งบประมาณ 1,553 ล้านบาท
4.โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลิตสินค้าเกษตรอื่นที่เหมาะสม โดยกรมพัฒนาที่ดิน พื้นที่ดำเนินการ 13 จังหวัด งบประมาณ 29 ล้านบาท 5.โครงการศูนย์ขยายพันธุ์พืช โดยกรมส่งเสริมการเกษตร พื้นที่ดำเนินการพื้นที่ของส่วนราชการ งบประมาณ 268 ล้านบาท 6.โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี โดยกรมการข้าว พื้นที่ดำเนินการ 18 จังหวัด และกรมวิชาการเกษตร พื้นที่ดำเนินการ 13 จังหวัด งบประมาณ 304 ล้านบาท 7.โครงการศูนย์ขยายพันธุ์และส่งเสริมการผลิตปศุสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ พื้นที่ดำเนินการพื้นที่ของส่วนราชการ งบประมาณ 140 ล้านบาท
8.โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร พื้นที่ดำเนินการ 76 จังหวัด กรมประมง พื้นที่ดำเนินการ 19 จังหวัด กรมปศุสัตว์ พื้นที่ดำเนินการ 73 จังหวัด และกรมวิชาการเกษตร พื้นที่ดำเนินการ 33 จังหวัด งบประมาณ 5,831 ล้านบาท 9.โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พื้นที่ดำเนินการ 40 จังหวัด กรมส่งเสริมสหกรณ์ พื้นที่เพเนินการ 37 จังหวัด สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พื้นที่ดำเนินการ 6 จังหวัด และกรมหม่อนไหม พื้นที่ดำเนินการ 4 จังหวัด งบประมาณ 98 ล้านบาท
10.โครงการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร พื้นที่ดำเนินการ 77 จังหวัด งบประมาณ 66 ล้านบาท 11.โครงการพัฒนาสถาบันเกษตรกรจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ พื้นที่ดำเนินการ 42 จังหวัด งบประมาณ 1,017 ล้านบาท 12.โครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ พื้นที่ดำเนินการ 40 จังหวัด งบประมาณ 410 ล้านบาท 13.โครงการเพิ่มศักยภาพการรวบรวมและการแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ พื้นที่ดำเนินการ 22 จังหวัด งบประมาณ 340 ล้านบาท
14.โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ โดยกรมชลประทาน และการยางแห่งประเทศไทย พื้นที่ดำเนินการ 53 จังหวัด งบประมาณ 3,628 ล้านบาท 15.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง โดยการยางแห่งประเทศไทย งบประมาณ 6 ล้านบาท 16.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) โดยการยางแห่งประเทศไทย งบประมาณ 2 ล้านบาท
17.โครงการยกระดับโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างครบวงจร โดยกระทรวงอุตสาหกรรม งบประมาณ 298 ล้านบาท 18.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โดยกระทรวงอุตสาหกรรม งบประมาณ 200 ล้านบาท 19.โครงการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยกระทรวงพาณิชย์ งบประมาณ 6 ล้านบาท 20.โครงการประเมินผลการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร งบประมาณ 5.15 ล้านบาท
แผนงานที่ 2 ยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลัง งบประมาณ 693 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย
1.โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ของ กษ.โดยสำนักงานปลัด กษ.76 จังหวัด สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พื้นที่ดำเนินการ 70 จังหวัด กรมหม่อนไหม พื้นที่ดำเนินการ 21 จังหวัด กรมพัฒนาที่ดิน พื้นที่ดำเนินการ 14 จังหวัด กรมประมง พื้นที่ดำเนินการ76 จังหวัด กรมวิชาการเกษตร พื้นที่ดำเนินการ 4 จังหวัด งบประมาณ 505 ล้านบาท
2.โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร โดยกรมชลประทาน พื้นที่ดำเนินการ 76 จังหวัด งบประมาณ 187 ล้านบาท
"ขอย้ำรายละเอียดปฏิบัติงานให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในพื้นที่ ทำประชาคมทุกโครงการ โดยเชิญหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐเข้าร่วมตรวจโครงการ ซึ่งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด นำชุดโครงการที่ต้องดำเนินการในพื้นที่จังหวัดแจ้งที่ประชุมอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนั้นๆ ทราบ และให้ประสานกับนายอำเภอ และหรือฝ่ายปกครองในพื้นที่ทราบ เพื่อร่วมบูรณาการดำเนินการให้เรียบร้อยและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุดด้วย" นายกฤษฎา กล่าว
นอกจากนี้ นายกฤษฎา ยังได้เปิดเผยภายหลัง การมอบนโยบายการดำเนินงานแก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่กรมพัฒนาที่ดิน ว่า ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืนร่วมกับภาคเอกชน ที่กระทรวงเกษตรฯได้รับจัดสรรงบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ดำเนินการใน 20 โครงการทั้ง พืช สัตว์ประมง และโครงสร้างพื้นฐาน
เน้นย้ำเรื่องความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนของโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงและครอบคลุมมากที่สุด โดยได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ กำกับดูแลและตรวจติดตามโครงการทั้ง 3 ระยะ คือ การตรวจแนะนำชี้แจงข้อมูลทั้ง 20 โครงการให้กับประชาชนได้รับรู้ อย่างทั่วถึง
การตรวจติดตามโครงการแต่ละขั้นตอนเป็นไปตามแผนหรือไม่ และตรวจสอบความโปร่งใส หรือตรวจจับผิด หากพบความผิดปกติหรือส่อเจตนาที่จะมีการทุจริตก็ต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดได้
“เกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ ต้องมีข้อมูลเรื่องตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกร ที่ขาดความรู้ เทคโนโลยีการผลิต ขาดความรู้ด้านการตลาด และ ขาดแคลนแหล่งเงินทุน"
รวมทั้งต้องประสาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)สำนักงานพาณิชย์ สำนักงานอุตสาหกรรม ภาคเอกชน บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด หรือร้านค้าต่างๆ เพื่อติดต่อกับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง