อมตะ ผนึก อินทรีคอนกรีต ปลุกกระแส Green Construction หนุนไทยใช้นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
อมตะ จับมือ นครหลวงคอนกรีต หรือ อินทรีคอนกรีต ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ สนับสนุนการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำในไทย ผลักดันให้อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยสู่การลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยก้าวสู่อนาคตสีเขียว ตอกย้ำแนวทางการพัฒนายั่งยืน
นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรมและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์์ในประเทศไทยของอมตะ เปิดเผยว่า วันนี้ (18 ก.พ. . 2568) กลุ่มอมตะ และ บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการนำวัสดุก่อสร้าง ทั้งปูนซีเมนต์และคอนกรีตผสมเสร็จที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาใช้ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สอดรับกับแนวทางของอุตสาหกรรมก่อสร้างยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (Global Warming)
“กลุ่มอมตะมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและสร้างศักยภาพให้ประเทศไทยก้าวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพราะเราเชื่อว่าการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ โดยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านวัสดุการก่อสร้างที่ทันสมัยมายกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับศึกษาผลกระทบของการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด ทั้งในด้านประสิทธิภาพของวัสดุ และความคงทนของการใช้งาน เพื่อการปรับปรุงมาตรฐานของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน” นายวิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ อมตะและ อินทรีคอนกรีตมีเป้าหมายร่วมกันที่จะพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด“เปลี่ยน...เพื่อโลกน่าอยู่” ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และผลักดันให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการลดคาร์บอน เพื่ออนาคตที่ดีกว่าและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย โดยทั้งสองบริษัทจะร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม ที่จะเป็นต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้กับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อร่วมลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งทางอมตะและอินทรีคอนกรีต เชื่อมั่นว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมสีเขียว และสร้างอนาคตสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ที่ดีให้กับประเทศไทย
นายเครก สจ๊วต บิ๊กคลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด หรือ อินทรีคอนกรีต กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันอินทรีคอนกรีต เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ “อินทรีเพชร Easy Flow” ซึ่งเป็น “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ประสิทธิภาพสูงที่ผสมผสานความสามารถในการทำงานและการพัฒนากำลังอัดที่สูงเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อใช้สำหรับงานคอนกรีตทุกประเภท และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
อินทรีคอนกรีต ตระหนักดีถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจของเราจึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และส่งเสริมการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2573 ของกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง
โดยอินทรีคอนกรีต ได้รับการรับรองให้ใช้เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO (Thailand Greenhouse Gas Management Organization) ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศเพื่อต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน สำหรับผลิตภัณฑ์ของอินทรีคอนกรีตที่ผ่านการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประกอบด้วย 14 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ คอนกรีตผสมเสร็จขนาดกำลังอัดตั้งแต่ 180-800 KSC.
ความร่วมมือระหว่างอมตะและอินทรีคอนกรีตในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และยังไม่หยุดอยู่แค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ยังมีการติดตามและประเมินผลกระทบจากการใช้วัสดุก่อสร้างเหล่านี้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยมีการจัดกิจกรรมและการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงสร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต