14มี.ค.2568 / แหล่งข่าววงในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามในคำสั่ง ให้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มาช่วยราชการกระทรวงเกษตรฯ และมอบหมายให้ นางสาวอิงอร ปัญญากิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปรักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแทน พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หลังจากที่มีหนังสือร้องเรียนจาก กลุ่มเอกชนผู้ส่งออกผลไม้ ว่า นายรพีภัทร์ฯ อาจมีส่วนรู้เห็นกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่เข้าไปตรวจสอบ สาร BY2 ในทุเรียน และมีการเรียกรับเงินกับผู้ประกอบการส่งออกโดยไม่มีอำนาจการตรวจสอบ
ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียนดังกล่าวได้ถูกส่งมายัง ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ เมื่อ วันศุกร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 โดยในหนังสือร้องเรียนระบุว่า
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์)เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัทเอกชนรายหนึ่งของ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมนำเอกสารแนบ 1.หลักฐานการโอนเงิน 2.ข้อความสนทนาเป็นหลักฐาน
ทั้งนี้เอกสารร้องเรียนยังระบุว่าตามที่กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บบางสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืชเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2568 นั้น ได้สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรอย่างหนักเนื่องจากต้องเสียค่าตรวจหาสาร BY2 เพิ่มมากขึ้นทำให้ตกเป็นภาระของเกษตรกรซึ่งในส่วนนี้ควรจะเป็นหน่วยงานรัฐช่วยเกษตรกรมากกว่า ตั้งแต่ประกาศนี้ออกมาทำให้เกิดข้อสงสัยในกระบวนการสรรหาผู้ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐที่จะมาเป็นผู้ตรวจสอบหาสาร BY2
ปัจจุบันนี้ได้มีแค่ 1 บริษัท ได้ลงพื้นที่ตรวจเก็บตัวอย่าง และให้เกษตรกรโอนเงินเข้าบริษัทโดยวิธีการสแกนผ่านระบบ คิวอาร์โค้ค ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตรรู้เห็นต่อการกระทำของบริษัท ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถลงพื้นที่มาตรวจเก็บตัวอย่าง ของ BY2 จากเกษตรกรชาวสวนทุเรือน ทำให้เกิดข้อสงสัยในหมู่เกษตรกรว่าบริษัทนี้ใช้อำนาจอะไรซึ่งทราบมาว่าปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร ยังไม่ได้ประกาศสรรหาหรือรับรองบริษัทที่จะมาทำการตรวจหาสาร BY2 แต่ทำไมถึงมีบุคคลากรของบริษัท เชิญชวนให้เกษตรกรใช้บริการจากบริษัทซึ่งปัจจุบันได้มีเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจำนวนหนึ่งได้โอนเงินเข้าบริษัทดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม จึงขอให้ท่านรัฐมนตรีตรวจสอบว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ได้เอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท หรือไม่ ถ้าพบขอให้ดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบอย่างถึงที่สุดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและเกษตรกรชาวสวนทุเรียน โดยลงนามว่าผู้ร้องคือสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทยผู้ร้องเรียนและผู้ได้รับผลกระทบ
แหล่งข่าวยังบอกด้วยว่า สาเหตุดังกล่าวมีรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา นายประยูร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีนายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงฯเป็นประธาน และต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมานายประยูรฯ ได้ลงนาม คำสั่งให้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มาช่วยราชการที่กระทรวงเกษตร ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย และนอกจากปัญหาการร้องเรียนในเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีการร้องเรียนในเรื่ิองการก่อสร้างอาคารของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในสมัยที่นายรพีภัทร์ ดำรงค์ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจรับงานได้ จนยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน