เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่หอประชุมราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติร่วมพิธี
นายวีริศ กล่าว ทาง รฟท. และ สทร. มีแผนร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบราง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาระบบมาตรฐานและการทดสอบความปลอดภัยของระบบราง การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากทั้งในและต่างประเทศ และการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบราง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการให้บริการที่ทันสมัย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นายวีริศ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาและผลิตต้นแบบรถจักร รถโดยสาร และรถสินค้า รวมถึงชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรองรับการขนส่งระบบรางอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของตู้รถไฟโดยสารชั้น 3 ปรับอากาศ ให้มีความสะดวกสบาย ทันสมัย รวมถึงพัฒนาต้นแบบตู้โดยสารเชิงท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟไปพร้อมกัน
นายวีริศ กล่าวว่า สำหรับการปรับปรุงตู้รถไฟโดยสารชั้น 3 จากพัดลมให้เป็นปรับอากาศนั้น เบื้องต้น ภายหลังการลงนามในครั้งนี้ ทางสทร. จะเร่งปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 (รถไฟพัดลม) ให้เป็นรถโดยสารชั้น 3 ปรับอากาศ ที่ รฟท. ได้ส่งมอบขบวนรถโดยสารไปแล้วก่อนหน้านี้ จำนวน 1 คัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2568 เพื่อนำมาเป็นต้นแบบ โดยจะประเดิมการปรับปรุงเฟสแรกจำนวน 40 คัน วงเงิน 295.60 ล้านบาท ตั้งเป้าเปิดประมูลปี 2568 เริ่มปรับปรุงต้นปี 2569 ระยะเวลาปรับปรุงคันละ ประมาณ 3 เดือน ซึ่งคันแรกจะเสร็จและเริ่มทยอยนำออกให้บริการได้ช่วงกลางปี 2569 เนื่องจากจะต้องถอนรถออกจากบริการในเส้นทางเพื่อนำมาเข้ากระบวนการปรับปรุง ซึ่งจะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน โดยคาดว่าจะเสร็จตามแผนครบในปี 2570
นายวีริศ เผยว่า รฟท. พร้อมจ่อชงของบประมาณของปี 2569 เพื่อปรับปรุงเพิ่มอีก 50 คัน (เดิมจะปรับปรุง 90 คัน) โดยปัจจุบัน รฟท.มีรถไฟพัดลมประมาณ 500 คัน อายุใช้งาน 30 – 60 ปี (อายุเฉลี่ย 37ปี) ซึ่งการปรับปรุงจะเลือกรถที่ยังมีสภาพดีและอายุการใช้งานไม่มากนักและเหมาะสมกับการใช้บนทางรถไฟใหม่ที่มีความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.ด้วย ดังนั้นอาจจะมีรถไฟบางส่วนที่ต้องปลดระวาง ทั้งนี้ นายวีริศ เผยว่า เมื่อมีการปรับปรุงรถไฟชั้น 3 จากพัดลมเป็นปรับอากาศ ก็อาจจะต้องขึ้นค่าโดยสาร ตามระเบียบ ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.รางฯ อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และพร้อมมอบส่วนลดให้นักเรียน-นักศึกษา
ด้าน นายจุลเทพ กล่าวว่า ตามแนวคิดจะมีการพัฒนารถไฟปรับอากาศต้นแบบขึ้นมา โดยจะนำข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความเห็นผู้ใช้บริการว่าต้องการรถโดยสารแบบใด และนำมาออกแบบและต้องมีการทดสอบความปลอดภัยด้วย ซึ่งภายในปลายปี 2568 นี้รถโดยสารปรับอากาศต้นแบบจะออกมา และจะขยายไปสู่การพัฒนาออกแบบและผลิตหัวจักรและขบวนรถไฟเอง ซึ่งจะมีภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระบบซัพพลายเชนทั้งหมด เข้ามาร่วมด้วย เนื่องจากเมื่อระบบรถไฟทางคู่เสร็จทั่วประเทศ จะต้องมีขบวนรถและหัวรถจักรเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการขนส่งทางรางที่เพิ่มขึ้น