ทีมนักวิจัยและนักประดิษฐ์ของ กฟผ. คว้า 4 รางวัล ในงาน “46th International Exhibition of Inventions of Geneva” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จาก 3 ผลงาน หุ่นยนต์ทำความสะอาดลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าขณะจ่ายไฟ, การแก้ปัญหา Power System Oscillation ในระบบไฟฟ้า และผลงานโปรแกรมวิเคราะห์และแสดงพิกัดตำแหน่งฟ้าผ่าเทียบแนวสายส่ง
นายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการนโยบาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดและจัดแสดงผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมในเวทีนานาชาติ “46th International Exhibition of Inventions of Geneva” ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 1 -15 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ผลปรากฎว่า กฟผ. ได้รับ
2 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง และ 1 รางวัลเหรียญเกียรติยศ (Special Prize) จากประเทศจีน โดยผลงานที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง ได้แก่ ผลงานหุ่นยนต์ทำความสะอาดลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าขณะจ่ายไฟ เพื่อให้การทำความสะอาดลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเป็นไปอย่างปลอดภัย ป้องกันการลัดวงจรของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากความสกปรกบนลูกถ้วย เพิ่มความมั่นคงในการส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลงานชื่อ การแก้ปัญหา Power System Oscillation ในระบบไฟฟ้า กฟผ. เพื่อลดปัญหาระบบไฟฟ้าที่ไม่มีเสถียรภาพ และลดปรากฏการณ์ไฟดับเป็นบริเวณกว้างเนื่องจากความถี่ไฟฟ้าหลุดจากระดับปกติ ซึ่งเกิดขึ้นกับสายส่งที่มีระยะทางไกล เช่น ในพื้นที่ภาคใต้ โดยผลงานดังกล่าว สามารถคว้ารางวัลเหรียญเกียรติยศ จากประเทศจีน 1 รางวัลอีกด้วย
สำหรับรางวัลเหรียญทองแดงมาจากผลงาน โปรแกรมวิเคราะห์และแสดงพิกัดตำแหน่งฟ้าผ่าเทียบแนวสายส่ง (LLS2Line) เป็นการบูรณาการข้อมูลจากเทคโนโลยีระบบควบคุม (EGAT SCADA) ระบบตรวจจับฟ้าผ่า (VAISALA) ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลใน กฟผ. เว็ปไซต์ Google Map และ LINE Application เพื่อประมวลผลค้นหาข้อมูลฟ้าผ่า เมื่อเกิดเหตุขัดข้องในระบบควบคุมกำลังไฟฟ้า ก่อนจะส่งข้อมูลแบบอัตโนมัติไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและลดการสูญเสียรายได้จากการหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้า เพิ่มความมั่นคงให้ระบบส่งกำลังไฟฟ้า
“กฟผ. มุ่งส่งเสริมให้พนักงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ จนได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย กฟผ. จะมุ่งสร้างนักวิจัย นักประดิษฐ์ เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยต่อไป” นายภัทรพงศ์ กล่าว