กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ นิคมสหกรณ์ ประชุม"kick off"หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาออกเอกสารสิทธิ์ (โฉนด) ที่ดินของผู้ที่ได้รับผลการะทบจากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ
วันนี้ 18 มี.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมเขาแหลม 1 ชั้น 2 อาคารที่ทำการเขื่อนวชิราลงกรณ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รอง ผอ.สํานักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นประธานประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาออกเอกสารสิทธิ์ (โฉนด) ที่ดินของผู้ที่ได้รับผลการะทบจากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณในพื้นที่ อำเภอทองผาภูมิ และ อำเภอสังขละบุรี โดยมีนายพนม โพธิ์แก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 5 ร่วมเป็นประธาน มีนายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ นายสุริยศักดิ์ เหมือนอ่วม นายอำเภอสังขละบุรี นางศุภวรรณ วงษ์ประยูร ผู้อํานวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ นางสาวภทรกช เหนือเกตุ ผู้อำนวยการศูนย์บริการจัดการและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ด้านที่ดิน และทรัพยากร พระมหาสุชาติ สิริปัญฺโญ เจ้าคณะอำเภอสังขละบุรี/ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม นายรักษิต ต้วมศรี หัวหน้ากองบำรุงรักษาโยธาเขื่อนวชิราลงกรณ นายนิติธร พุทธธรรมนโม ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์ทองผาภูมิ ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3(บ้านโป่ง) เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) ผู้แทน สนง.ทสจ.กาญจนบุรี ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ ในพื้นที่อำเภอสังขละบุรีและอำเภอทองผาภูมิ เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก
ทั้งนี้ก่อนประชุมนายพนม โพธิ์แก้ว ได้ให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนวชิราลงกรณ กล่าวถึงความเป็นมาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่ง กฟผ.จำเป็นต้องใช้พื้นที่สำหรับก่อสร้างหัวงาน พื้นที่อ่างเก็บน้ำ พื้นที่สำหรับราษฎรอพยพ รวมทั้งก่อสร้างสาธารณูปโภค จากการสร้างเขื่อน ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำถูกโยกย้ายไปอยู่ที่ใหม่ จำนวน 1,302 ครัวเรือนพื้นที่ที่ กฟผ. จัดสรรให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โดยแยกออกเป็น 5 แห่ง คือ1.)อำเภอสังขละบุรี แปลงจัดสรรลำห้วยซองกาเรีย 3 หมู่บ้าน เนื้อที่ 4,000 ไร่ 2.) แปลงจัดสรรห้วยมาลัย 5 หมู่บ้าน เนื้อที่ 11,600 ไร่ 3.)แปลงจัดสรรบ้านจองอั่ว 2 หมู่บ้าน เนื้อที่ 5,000 ไร่ 4.) อำเภอทองผาภูมิ แปลงจัดสรรห้วยเขย่ง 6 หมู่บ้าน เนื้อที่ 15,000 ไร่ และ 5.) แปลงจัดสรรห้วยกุยมั่ง 2 หมู่บ้าน เนื้อที่ 6,800 ไร่ รวม 42,400 ไร่
ก่อนมีการประชุมอย่างเป็นทางการนั้น นายชัชชัย อุดมสถาพจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ ได้ขออนุญาตในที่ประชุมเพื่อยื่นหนังสือที่เป็นเอกสารข้อมูลรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบและยังไม่ได้รับการออกเอกสารสิทธิ์ (โฉนด) ที่ดินจนถึงปัจจุบัน จำนวน 1,565 รายชื่อ โดยมีนายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นผู้รับมอบหนังสือ
สำหรับบรรยากาศในที่ประชุมมีอดีตผู้นำในหลายท้องที่ออกมาแสดงความคิดเห็นตั้งแต่อดีตที่เริ่มมีการสร้างเขื่อนจนถึงปัจจุบันผ่านมากว่า 40 ปี ยังไม่มีการออกโฉนดให้กับประชาชนที่เสียสละที่ดินทำกินที่เคยทำมาตั้งแต่ในอดีตดที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อนรวมถึงในยุคสมัยที่ยังไม่มีกรมอุทยานฯ โดยมีนิคมสหกรณ์มาตั้งแต่ปี 2518 ต่อมาปี 2534 กรมอุทยานฯได้ประกาศทับซ้อนพื้นที่นิคมสหกรณ์ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาจนถึงทุกวันนี้ และที่ผ่านมามีชาวบ้านหลายรายเสียชีวิตไปแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถออกโฉนดให้กับประชาชนได้เลย ซึ่งการประชุมครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ นายพนม โพธิ์แก้ว สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 5 เปิดเผยภายหลังว่า การประชุมในวันนี้ในเรื่องที่ดินไม่ว่าจะเป็นโครงการ One Map หรือเรื่องผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณที่ยังมีประชาชนเกินครึ่งที่ยังออกโฉนดไม่ได้ อาจจะเป็นเรื่องของการทับซ้อนของที่อุทยานฯกับนิคมสหกรณ์หรืออาจจะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือเพราะว่าชาวบ้านเวลาได้ที่ดินจัดสรรที่ดินแล้ว ระหว่างรอราชการในการออกโฉนดที่ดินมีกระบวนการขั้นตอนที่ใช้เวลา
ด้วยงบประมาณ ด้วยบุคลากรที่จำกัด เลยทำให้ชาวบ้านบางรายรอไม่ไหว เลยมีการซื้อขายเปลี่ยนมือไป ทำให้แปลงที่ดินแปลงนั้น เหล่านั้น ก็ยังไม่สามารถออกโฉนดได้ ซึ่งในการประชุมได้สรุปประเด็นปัญหาและก็ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยแก้ปัญหา เบื้องต้นนายสุริยนฯ รอง ผอ.สคทช.ให้เวลาไว้ 180 วันในการให้นายอำเภอทองผาภูมิ นายอำเภอสังขละบุรี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ได้รวบรวมข้อมูลและนำข้อมูลไปนำเสนอต่อ สคทช.เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป และวันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ "kick off"ในการเริ่มแก้ปัญหาที่ดินของจังหวัดกาญจนบุรีที่มีมาอย่างยาวนานถึง 50 ปี
ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้ว่าวันนี้จากการทำงานของ สคทช.ที่ผ่านมา จากผลงานการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและการพูดคุยวันนี้ที่สรุปรายละเอียดและข้อมูลเป็นแนวทางที่สดใส คิดว่าการบริหารที่ดินทำกินของจังหวัดกาญจนบุรี ถึงจะมีรายละเอียดที่ซับซ้อนแต่คาดว่าน่าจะแก้ไขได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลาเพราะปัญหานี้สะสมมานานร่วม 50 ปี แล้ว
////////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์