ธพ. เผยภาพรวมการใช้น้ำมันไตรมาสแรกเติบโตขึ้นขณะที่แนวโน้ม NGV ปรับตัวลดลง เหตุจากนโยบายรัฐมนตรีพลังงาน ส่งเสริมใช้ไบโอดีเซล
นางอุษา ผ่องลักษณา รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า จากคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปี 2561 จะยังคงปรับเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น กลุ่มเบนซินจะอยู่ที่ 31.92 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 6.2% จากปี 60 อยู่ที่ 30.06 ล้านลิตรต่อวัน, กลุ่มดีเซลจะอยู่ที่ 66.99 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 5.1% จาก 63.73 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนก๊าซแอลพีจีจะอยู่ที่ 17.37 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.4% จาก 16.97 ล้านกิโลกรัมต่อวัน แต่ก๊าซเอ็นจีวีจะอยู่ที่ 6.19 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลง 8.3% จาก 6.75 ล้านกิโลกรัมต่อวัน
ทั้งนี้ ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันของไตรมาส 1/61 เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 60 โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 4.7% และดีเซลหมุนเร็ว (บี7) เพิ่มขึ้น 3.9% ขณะที่ LPG เพิ่มขึ้น 9.5% และ NGV ลดลง 8.3%การใช้ NGV ของไตรมาสที่ 1/2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 ล้าน กก./วัน ลดลงจากปีก่อนคิดเป็น 8.3% โดยการใช้ NGV ลดลงเป็นผลต่อเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี 2559 ทำให้ประชาชนและรถบรรทุกสินค้าหันไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา และส่งผลให้มีสถานีบริการ NGV ทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภทเชื้อเพลิง NGV จำนวนลดลงคิดเป็น 3.1% ประกอบกับเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานส่งเสริมให้มาใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 10 และบี 20 ในอนาคต
"ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมันและก๊าซฯ ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น จาก 26,691 แห่ง เป็น 27,710 แห่ง เมื่อเทียบไตรมาส 1 ของช่วงปี 2560 และ 2561 แต่หากแยกเป็นปั๊มเอ็นจีวีพบว่าลดลง 1 แห่ง เหลือ 461 แห่ง ส่วนปั๊มแอลพีจีลดลง 11 แห่ง เหลือ 2,082 แห่ง ซึ่งยอดปั๊มก๊าซพบว่ายอดปิดตัวลดลง เนื่องจากหลายแห่งปรับตัวขายน้ำมันร่วมด้วย รวมทั้งร้านค้าสะดวกซื้อ ทำให้ดำเนินธุรกิจอยู่ได้"นางอุษากล่าว
อย่างไรก็ตามปั๊มบริการเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและก๊าซฯ ในเขต กทม.ไตรมาส 1/2561 มี 900 แห่ง เพิ่มขึ้น 11 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1/2560 โดยยอดจดทะเบียนยกเลิกกิจการมีถึง 18 แห่ง และจดทะเบียนเพิ่ม 20 แห่ง ซึ่งจากการลดลงก็เป็นพื้นที่ด้านในเป็นหลัก
นอกจากนี้สถานีบริการเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและก๊าซในพื้นที่เมืองชั้นใน ยอมรับว่าลดน้อยลง ซึ่งจากที่กรมฯ ได้สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการปั๊มน้ำมัน พบว่า ยังไม่ต้องการทำปั๊มใต้คอนโดมิเนียมเช่นเดียวกับต่างประเทศ แต่จะไปก่อสร้างปั๊มในพื้นที่นอกเมืองทดแทน ดังนั้นจึงยังไม่ออกระเบียบเรื่องการจัดตั้งปั๊มน้ำมันใต้คอนโด เพียงแต่ผู้ใช้ในเมืองคงสะดวกน้อยลง เพราะต้องออกไปเติมนอกเมือง