นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้จัดอบรมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก เพื่อให้ทุเรียนไทยมีมาตรฐาน ปราศจากศัตรูพืชกักกัน ลดปัญหาการแจ้งเตือนจากประเทศปลายทาง ซึ่งขณะนี้ปัญหาการปนเปื้อน Basic Yellow 2 (BY2) และสารแคดเมียมในทุเรียนสดส่งออกไปจีน นับว่ามีผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกผลไม้ของไทย ทางการจีนจึงเพิ่มความเข้มงวดและออกกฎระเบียบในการควบคุมการนำเข้า การจำหน่าย ผลไม้นำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งหากมีการตรวจพบการปนเปื้อน BY2 และสารแคดเมียมในผลทุเรียนสด และถูกระงับการนำเข้า จะส่งผลต่อเศรษฐกิจการส่งออกผลไม้ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อราคาผลผลิตของเกษตรกร
กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบและมีภารกิจในการกำกับดูแลการตรวจติดตามโรงงานผลิตสินค้าพืชให้ได้มาตรฐาน เข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพผลผลิต และรับรองสุขอนามัยพืช ให้เป็นไปตามเงื่อนไขในพิธีสารส่งออกไปจีนอย่างเข้มงวด เพื่อให้การบริหารจัดการผลไม้ ตลอดห่วงโซ่การผลิตจนถึงกระบวนการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย
“กระทรวงเกษตรฯ เน้นย้ำในเรื่องของการปฏิบัติตามมาตรการ 4 ไม่ เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนไทย ปี 2568 ได้แก่ 1. ไม่อ่อน 2.ไม่หนอน 3.ไม่สวมสิทธิ์ และ 4.ไม่มีสี-ไม่มีสารเคมีต้องห้าม โดยมีเป้าหมาย “Set Zero” การใช้สี การใช้สารเคมีในโรงคัดบรรจุทั้งหมด” รวมถึงมาตรการ Big Cleaning เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารตกค้าง BY2 ซึ่งนับเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเรื่องคุณภาพและมาตรฐานกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรในโรงคัดบรรจุ การกำกับดูแลผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน
จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุและโรงรวบรวมผลไม้ปฏิบัติได้ตามมาตรฐานและตามประกาศหลักเกณฑ์ที่กำหนด และมีการบูรณาการและสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ผลไม้ที่ส่งออกไปก็จะมีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ส่งเสริมภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ การส่งออกผลไม้ของไทยก็จะราบรื่น เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลไม้ได้ราคาดี ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทย และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ และเกษตรกรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”
สำหรับการจัดประชุม ได้ชี้แจงให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุได้รับทราบและเข้าใจในหลักเกณฑ์ กฎระเบียบและขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา ตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการส่งออกผลไม้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นและหารือข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาช่วยให้การส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกปี 2568 เป็นไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ จึงมีความมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุได้มีความเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ในการส่งออกผลไม้ สามารถบริหารจัดการโรงคัดบรรจุได้ตามมาตรฐาน มกษ.9047-2560 รวมถึงประกาศและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
ทางสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6 ) กรมวิชาการเกษตรได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามตามมาตรการ Big Cleaning นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 เป็นต้นมา รวมทั้งจัดงานมหกรรม Big Cleaning Day ทุเรียนภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงคัดบรรจุเกาฟง และโรงคัดบรรจุบริเวณโดยรอบ รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนของโรงคัดบรรจุ ให้มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานตรวจสอบคุณภาพทุเรียน ตามหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070-2566)
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด และสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ จัดฝึกอบรมเรื่องการพัฒนาทักษะผู้ควบคุมคุณภาพผลผลิตประจำโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือก ปี 2568 จำนวน 2 รุ่น ให้กับผู้ควบคุมคุณภาพประจำโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก โดยจะดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2568 ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ซึ่งขณะนี้มีโรงคัดบรรจุให้ความสนใจแจ้งความประสงค์เข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก
“ ปัญหาการปนเปื้อน ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรและจีน จำนวน 8 แห่ง และเตรียมจะเพิ่มอีก 4 แห่ง เพื่อรองรับทุเรียนตะวันออกในช่วงปลาย มี.ค. ถึงต้น เม.ย. สามารถให้บริการทดสอบตัวอย่างตรวจสอบสาร BY2 และสารแคดเมียม ได้มากกว่า 2,000 ตัวอย่างต่อวัน ดังนั้น ขอให้พี่น้องเกษตรกรคลายความกังวลในช่วงพีคของฤดูกาล กระทรวงเกษตรฯ มั่นใจในการเตรียมความพร้อมรองรับทุเรียนภาคตะวันออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคชาวจีนถึงคุณภาพและความปลอดภัยของทุเรียนไทย ”
สำหรับสถานการณ์การผลิตและข้อมูลพยากรณ์ไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2568 ครั้งที่ 2/2568 ทุเรียน ออกดอกแล้วร้อยละ 91.52 ทุเรียนรุ่นแรก ส่วนใหญ่อยู่ในระยะดอกบาน ระยะหางแย้ เริ่มทยอยติดผลเล็กเพิ่มขึ้น รุ่นถัดมาการออกดอกส่วนใหญ่อยู่ในระยะมะเขือพวง ระยะกระดุม
นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่ทุเรียนยังทยอยออกดอกในระยะไข่ปลา/ตาปู และระยะเหยียดตีนหนู ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ผลผลิตทุเรียนปีนี้จะมีหลายรุ่น และดูแลรักษาเพื่อบริหารจัดการผลผลิต ของเกษตรกรอาจทำได้ยากขึ้น โดยทุเรียนที่จะเก็บเกี่ยวได้ก่อนคือทุเรียนพันธุ์เบาและทุเรียนที่บังคับสารออกดอก ได้แก่ พันธุ์กระดุม พันธุ์พวงมณี และพันธุ์หมอนทองบางส่วน ผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม 2568 โดยจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2568
ทุเรียน 3 จังหวัดของภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ปี 2568 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 739,755 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 694,944 ไร่ (เพิ่มขึ้น 44,811 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.45) เนื้อที่ให้ผลรวม 496,429 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 424,724 ไร่ (เพิ่มขึ้น 71,705 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 16.88) ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 2,106 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,569 กิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 537 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 34.23) ทำให้มีปริมาณผลผลิตรวม 1,045,410 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 666,329 ตัน (เพิ่มขึ้น 379,081 ตัน คิดเป็นร้อยละ 56.89)
เนื้อที่ยืนต้นทุเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยปรับเปลี่ยนจากพืชอื่น เช่น ยางพารา มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่ว่างเปล่า มาปลูกทุเรียนทดแทน จากปัจจัยด้านราคาและผลตอบแทน ที่จูงใจต่อการลงทุน รวมทั้งความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีต้นทุเรียนที่เริ่มให้ผลผลิตในปี 2568 ได้เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น จำนวน 72,908 ไร่
ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากในปีที่ผ่านมาสภาพอากาศแปรปรวน การออกดอกติดผลน้อย การสร้างผลทุเรียนไม่สมบูรณ์ ทำให้ได้พักต้นสะสมอาหาร สภาพต้นสมบูรณ์พร้อมออกดอก ประกอบกับปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ออกดอกติดผลเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา อีกทั้งต้นทุเรียนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูงและเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีผลตอบแทนสูงจูงใจต่อการลงทุน เกษตรกรจึงดูแลรักษา เอาใจใส่อย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากเนื้อที่ให้ผลและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียน รวม 3 จังหวัดภาคตะวันออก เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
สำหรับการส่งออกทุเรียนในปี 2567 มีปริมาณ 8.5 แสนตันตัน มูลค่า 1.34 แสนล้านบาท สำหรับ ปี 2568 ในเดือนมกราคม ไทยส่งออกได้ 6.1 พันตัน มูลค่า 1000 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญ ไทยส่งออกมากที่สุดกว่า 90 % คือจีนปี 2567 มีปริมาณ 8.33 แสนตัน มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน กัมพูชา เวียดนาม สหราชอาณาจักร ออสเตรเลียและอื่นๆ